รายละเอียดบทคัดย่อ


สมชาย บุญประดับ นันทวรรณ สโรบล เอนก โชติญาณวงษ์ และ วิระศักดิ์ เทพจันทร์ . การวิจัยและพัฒนาระบบการปลูกข้าว-พืชไร่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.63-69.

บทคัดย่อ

         พื้นที่ปลูกข้าวของ สปป.ลาว อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มอาศัยน้ำฝนถึงร้อยละ 70 หรือครอบคลุมพื้นที่ถึง 6 แสนเฮกตาร์ ผลผลิตที่ได้รับค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาความแปรปรวนของน้ำฝน ทำให้เกิดภาวะความแห้งแล้งในบางพื้นที่ ในขณะเดียวกันมีพื้นที่นาในเขตน้ำฝนเพียง 1 แสนเฮกตาร์เท่านั้น สามารถปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง โดยอาศัยน้ำชลประทาน แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตของข้าวนาปรังส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาได้ คือ การส่งเสริมการปลูกพืชที่มีศักยภาพในสภาพนาหลังเก็บเกี่ยวข้าว โครงการนี้อยู่ภายใต้โครงการ ACIAR ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อพัฒนาพืชที่มีศักยภาพและให้ผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะข้าวโพด ถั่วเหลือง และพืชตระกูลถั่วอื่น ในระบบปลูกพืชที่มีข้าวเป็นหลัก ดำเนินการในพื้นที่ 3 แขวงของ สปป.ลาว ได้แก่ แขวงเวียงจันทน์ แขวงสะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก สามารถครอบคุมพื้นที่นา ถึงร้อยละ 50 ของพื้นที่นาลุ่มทั้งหมดของ สปป.ลาว ผลการศึกษาเบื้องต้นจากเกษตรกรทั้ง 3 แขวง สามารถสรุปได้ว่า พืชไร่ที่ส่งเสริมให้ปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าว ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และถั่วเขียว มีการเจริญเติบโตไม่ดี เนื่องจากประสบกับภาวะอุณหภูมิต่ำ ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้เนื่องจาก เกษตรกรไม่คุ้นเคยกับการปลูกพืชไร่ ส่วนใหญ่จึงให้น้ำมากเกินไปจนกระทั่งเกิดภาวะน้ำท่วมขังในแปลง หรือบางครั้งให้น้ำไม่ตรงตามความต้องการ ทำให้ขาดน้ำในระยะที่สำคัญ โดยเฉพาะระยะออกดอก สำหรับปัญหาที่สำคัญของเกษตรกร คือ ผลผลิตพืชไร่ไม่มีตลาดรับซื้อ ไม่เหมือนข้าวที่มีตลาดรองรับ