รายละเอียดบทคัดย่อ


ธวัชชัย รัตน์ชเลศ รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์ บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ . การจัดการความรู้ชุมชนเพื่อพัฒนาระบบการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก: 1. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.80-87.

บทคัดย่อ

         การจัดการความรู้สามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกษตรได้ เอกสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสนอกระบวนการจัดการความรู้ชุมชน โดยเฉพาะในส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรณีศึกษากลุ่มผู้ผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกในภาคเหนือ 2 กลุ่ม เลือกใช้โมเดลปลาทู ที่มี 3 ส่วนเป็นแนวทาง ได้แก่ การกำหนดเป้าหมาย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างคลังความรู้ เป้าหมายส่วนแรกอยู่ที่การมีบทบาทเป็น “ศูนย์เรียนรู้ชุมชน” สำหรับใช้พัฒนาระบบการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก ส่วนที่สองการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่การสร้างความรู้จากภายใน มีอยู่ 7 ขั้นตอน ที่สามารถนำมาใช้อย่างได้ผลกับกรณีชุมชนเกษตร ได้แก่ การเลือกสมาชิก การเลือกสถานที่ การกำหนดประเด็นความรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การรวบรวมและเรียบเรียง การนำกลับคืนสู่ชุมชน และการทบทวน “เกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับมะม่วงฉบับชุมชน” เป็นคู่มือที่ได้รับใน เบื้องต้นจากแต่ละกลุ่ม เพื่อนำไปจัดทำเป็นคลังความรู้ในส่วนที่สามอย่างเป็นระบบต่อไป สำหรับความสำเร็จของการจัดการความรู้กับชุมชนเกษตรนั้น ควรเลือกจากกลุ่มอาชีพที่มีอยู่แล้วและมีคุณลักษณะที่เหมาะสม หลังดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว ได้พบการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนว่า เกษตรกรที่อ่อนแอในกลุ่มสามารถยกระดับขีดความสามารถสูงขึ้น มีความเชื่อมั่นในตนเอง และไว้ใจในองค์ความรู้เหล่านั้น เห็นคุณค่าของกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไว้ เกิดแนวทางใหม่ในการพัฒนาระบบการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก และกลุ่มได้พัฒนาตนเองเป็นชุมชนการเรียนรู้ รวมทั้งองค์ความรู้สามารถนำไปสนับสนุนบทบาทการเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนของกลุ่มได้