รายละเอียดบทคัดย่อ


สาวิตร มีจุ้ย และพิชัย สุรพรไพบูลย์ . การพัฒนาทางเลือกระบบเกษตรที่เหมาะสมเพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชันโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมของจังหวัดน่าน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.88-96.

บทคัดย่อ

         โครงการ “การพัฒนาทางเลือกระบบเกษตรที่เหมาะสมเพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชันโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมของจังหวัดน่าน” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ สถานการณ์การปลูกข้าวโพดในที่ลาดชัน รวมทั้งข้อมูลเศรษฐศาสตร์และสังคมเกษตรกร ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดของอำเภอนาน้อย เวียงสา สันติสุข และปัว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทางเลือกใหม่ทดแทนการปลูกข้าวโพด โดยมีเครือข่ายภาคีในพื้นที่มีส่วนร่วมวิจัย ผลการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินจากข้อมูลภาพดาวเทียม Landsat 5 ระบบ TM (Thematic Mapper) มีรายละเอียด (resolution) 25 เมตรพบว่า พื้นที่เกษตรกรรมที่ปลูกข้าวโพดของเกือบทุกอำเภอเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2547 (อำเภอสันติสุข= +2.53%, เวียงสา = +2.96% และนาน้อย= +5.97%) ยกเว้นเพียงอำเภอปัว (-3.27%) นอกจากนี้พื้นที่ป่าต่างๆ ลดลงโดยเฉพาะพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งคาดว่าถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร เกษตรกรมีรายได้หลักจากข้าวโพดมานานเกิน 10 ปีโดยใช้ความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาและ ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก สังคมเกษตรที่ปลูกข้าวโพดยังมีการพึ่งพาอาศัยกัน และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ได้ผลผลิตอยู่ในช่วง 550 – 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ และมีกำไร 2,000 – 5,150 บาท/ไร่ ในขณะที่ต้นทุนต่อไร่ 1,100 – 3,500 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมีหว่านหลังงอกมากที่สุด รองลงมา คือปุ๋ยเคมีรองพื้น และสารกำจัดวัชพืช (แต่เป็นวัสดุเกษตรที่ใช้บ่อยที่สุด) ผลกระทบต่อระบบนิเวศเกษตรที่สำคัญคือ นกและสัตว์ป่าหายไป วัชพืชมาก แหล่งน้ำตื้นเขิน และน้ำใช้ไม่ได้ พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ประสบกับภัยแล้ง การชะล้างหน้าดินและไฟป่า ในขณะเดียวกันสังคมชุมชน มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นแต่หนี้สินเพิ่ม และพึ่งพาคน อื่นมากขึ้น ผลการวิเคราะห์ทางเลือกการเกษตรโดยสอบถามชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ด้วยวิธีกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ (analysis hierarchy process: AHP) พบว่า เกณฑ์ตัดสินใจที่ทุกพื้นที่อำเภอกำหนดตรงกันคือ “ตลาดและการรับซื้อ” ส่วนเกณฑ์ “ความยั่งยืนของทางเลือก” เป็นเกณฑ์ตัดสินใจที่ชุมชนทุกพื้นที่ได้เลือก ซึ่งสรุปผลได้ว่า “การทำเกษตรผสมผสานแนวเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นทางเลือกอันดับแรกที่ชุมชนในพื้นที่อำเภอเวียงสา สันติสุขและปัวให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และเป็นอันดับสามในพื้นที่อำเภอนาน้อย ซึ่งได้ตัดสินใจให้เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับทดแทนการปลูกข้าวโพดในที่ลาดชันของจังหวัดน่าน