รายละเอียดบทคัดย่อ


นันทิยา หุตานุวัตร . ยุทธศาสตร์การขยายการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.126-135.

บทคัดย่อ

         การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งเพื่อศึกษาศักยภาพ เงื่อนไขปัจจัย และกลยุทธ์ในการขยายการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์สู่เกษตรกรทั่วไป ใช้วิธีการวิจัยแบบสำรวจเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีเกษตรกรกลุ่มศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และร้อยเอ็ด รวมจำนวน 475 ราย ผู้บริโภค จำนวน 118 ราย ผู้ประกอบการโรงสีทั้งเอกชนและกลุ่มเกษตรกรจำนวน 32 โรง ผู้ประกอบการค้าข้าวและการส่งออก จำนวน 5 ราย และตัวแทนหน่วยงานพัฒนาเอกชนและหน่วยงานราชการระดับจังหวัดและส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนประกอบด้วยการศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ การสำรวจตามแบบสอบถาม/สัมภาษณ์ และการศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึก การจัดสนทนากลุ่ม และการสังเกตศึกษาบางประเด็น ผลการศึกษาพบว่า การขยายการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์สู่เกษตรกรทั่วไปมีศักยภาพค่อนข้างมาก โดย พบว่า การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ไม่ต้องมีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรไม่ต้องปรับตัวมากนัก แต่กรณีการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ต้องมีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะต้องใช้เวลาและความพิถีพิถันในกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์มากกว่าการผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในศักยภาพดังกล่าวนี้ มีเงื่อนไขปัจจัย 3 ด้านได้แก่ 1) การสนับสนุนของรัฐทั้งระดับนโยบายและการปฏิบัติยังเป็นการผลิตนำการตลาด ยังไม่ได้สนับสนุนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน และยังไม่ได้จำแนกการสนับสนุนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่มีการรับรองมาตรฐานความเป็นอินทรีย์เพื่อการส่งออกต่างประเทศ 2) ตัวเกษตรกรเอง ซึ่ง พบว่า “ความมุ่งมั่น(ใจ)ของเกษตรกร” เป็นปัจจัยและเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด 3) การตลาดเกษตรอินทรีย์ พบว่า การตอบสนองความเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ของข้าวหอมมะลิของผู้บริโภคค้อนข้างต่ำ แหล่งรับซื้อและจำหน่ายผลผลิตอินทรีย์มีค่อนข้างน้อยและมักเป็นแบบตลาดนัดเฉพาะวันหรือมีเพียงการจำหน่ายในห้างใหญ่ และข้อมูลข่าวสารของการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยังสับสนทำให้ความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้องไม่ชัดเจนและไม่ตรงกัน ดังนั้น จึงควรใช้กลยุทธ์ 7 ข้อ ได้แก่ 1) ปรับเปลี่ยนการผลิตจากง่ายสู่ยาก โดยปรับเป็นการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ก่อน แล้วจึงเข้าสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน 2) ปรับเปลี่ยนทัศนคติและแรงจูงใจเกษตรกรด้วยการเรียนรู้ข้อมูลและการเห็นตัวอย่างรูปธรรมที่ทำได้ผล 3) สร้างความเข้มแข็งของการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำหน้าที่ด้านการผลิตและ การตลาด 4) อุดหนุนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนโดยรัฐหรือโรงสีหรือผู้ประกอบการค้าข้าวหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 5) สร้างความเข้าใจและการสนับสนุนการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 6) สร้างตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ โดยรณรงค์การบริโภคข้าวอินทรีย์และผลผลิตอินทรีย์ สร้างแหล่งรับซื้อและจำหน่ายข้าวอินทรีย์และผลผลิตอินทรีย์ระดับอำเภอและจังหวัด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 7) ประสานและสร้างการมีส่วนร่วมผลักดันเกษตรอินทรีย์ผสมผสานครบวงจร