รายละเอียดบทคัดย่อ


รัตน์ติยา สืบสายบุญส่ง สถิตย์ มณีสาร เฉลิมพงษ์ ขาวช่วง ปราณี พัฒนศรีกุล และ สุทัศน์ สุรวาณิช . ศูนย์เรียนรู้ยางพาราโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.154-161.

บทคัดย่อ

         ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง คุ้มค่ากับการลงทุน ทำให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหันมาปลูกยางพารามากขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมของภาครัฐในปี 2547-2549 ทำให้มีพื้นที่การปลูกยางพาราเพิ่มสูงขึ้น ปี 2549 พื้นที่ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านไร่ โดยจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ปลูกมากถึง 1.4 แสนไร่ แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเกษตรกรส่วนมากไม่มีประสบการณ์ในการปลูกสร้างสวนยาง จึงขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกและจัดการสวนยางที่ถูกวิธี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ยางพาราโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา กิจกรรมที่ 1 เก็บข้อมูลปฐมภูมิและร่วมวิเคราะห์ปัญหากับเกษตรกร โดยเสนวนาเกษตรกร 58 เวทีในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และนครราชสีมา เกษตรกรเข้าร่วมเสวนา 1,735 ราย วิเคราะห์ปัญหายางยังไม่เปิดกรีดได้ 3 ประเด็นได้แก่ ปัญหาด้านการจัดการดูแล ต้นทุนการผลิต และสภาพแวดล้อม ปัญหายางเปิดกรีดมี 2 ประเด็นได้แก่ ปัญหาอาการเปลือกแห้ง และการตลาด จากการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับเกษตรกรทำให้เกษตรกรได้ทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยตัวเกษตรกรเอง และผลจากการเสวนาทำให้มีเกษตรกรอาสา 1 กลุ่ม ที่สามารถเป็นวิทยากรชุมชนและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ได้ กิจกรรมที่ 2 ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร โดยฝึกอบรม 6 หลักสูตรคือ การปลูกสร้างสวนยาง การติดตายาง การกรีดยางและการทำยางแผ่นคุณภาพดี การผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพดี การผสมปุ๋ยเคมีใช้เองในสวนยาง และการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรผู้นำเข้าร่วมฝึกอบรม 1,570 ราย กิจกรรมที่ 3 งานวิจัยพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม มีเกษตรกรอาสาเข้าร่วมแปลงต้นแบบการปลูกสร้างสวนยางตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง 4 ราย โดยปลูกพืชแซมในแปลงยางที่อายุ 1-4 ปี ปลูกพืชแซม เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว กล้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกพืชแซมเฉลี่ย 28,483 บาทต่อปี จากการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ยางพาราโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีความรู้ด้านยางพาราเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรสามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาเองได้ อีกทั้งยอมรับเทคโนโลยีได้ง่ายและรวดเร็ว ที่สำคัญคือสร้างวิทยากรชุมชนที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและเกษตรกรกลุ่มอื่นได้ ทำให้ภาครัฐลดบุคคลากรและงบประมาณในการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีลงได้อย่างน้อย 177,150 บาทต่อคนต่อปี