รายละเอียดบทคัดย่อ


ธันปภา จันทเพ็ช และ กาญจนา ชาญสง่าเวช . การใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอตรวจความสามารถของไรโซเบียมถั่วเหลืองในการแข่งขันเข้าสร้างปมภาคสนาม.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.234-243.

บทคัดย่อ

         ไรโซเบียมถั่วเหลืองเข้าสร้างปมที่รากถั่วเหลืองและเปลี่ยนไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นแอมโมเนียสำหรับถั่วเหลืองใช้ในการเจริญ การปลูกถั่วเหลืองเป็นพืชหมุนเวียนสลับกับการปลูกพืชเช่น ข้าว จึงเป็นการลดการใช้ปุ๋ยเคมีประเภทไนโตรเจน เป็นการลดการขาดดุลการค้าจากการนำเข้าปุ๋ยเคมี และการลดมลภาวะทางน้ำประเภทยู-โทรฟิเคชั่น บรรทัดฐานแรกในการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมสำหรับถั่วเหลืองประกอบด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ไร- โซเบียมที่สามารถแข่งขันกับไรโซเบียมท้องถิ่น ในการเข้าสร้างปมที่รากถั่วเหลือง หลังจากนั้นจะคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจน ในการทดลองนี้ได้คัดเลือกไรโซเบียมถั่วเหลืองสายพันธุ์ NA7 เพิ่มจำนวนเซลล์ โดยเลี้ยงในอาหารสูตร yeast extract mannitol และคลุกเซลล์กับดินพีต (peat) ในสัดส่วน 2x108 เซลล์ต่อกรัมพีตคลุกเมล็ดถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 กับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม NA7 และปลูกเมล็ดถั่วเหลืองที่คลุกหรือไม่คลุกกับปุ๋ยไรโซเบียม NA7 ลงในแปลงขนาด 15 x 24 เมตรที่ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่านในปีเพาะปลูก 2550/2551 แยกแบคทีเรียจากปมรากถั่วเหลืองหลังการเพาะปลูก 1 เดือน และนำมาหาลายพิมพ์ดีเอ็นเอ โดยวิธี RAPD-PCR โดยใช้ไพร์เมอร์ RPO1 หรือ CRL-7 เพื่อเปรียบเทียบลายพิมพ์ดีเอ็นเอกับลายพิมพ์ดีเอ็นเอของสายพันธุ์ NA7 หากตรวจพบลายพิมพ์ดีเอ็นเอดังกล่าวจากแบคทีเรียที่แยกได้จากปมราก แสดงว่าไรโซเบียมสายพันธุ์ NA7 สามารถแข่งขันกับไรโซเบียมท้องถิ่นในการเข้าสร้างปมที่ตำบลน้ำมวบ ผลการทดลองได้แยกแบคทีเรียจากปมรากถั่วเหลือง 198 ไอโซเลต แบ่งเป็นประเภทเพิ่มจำนวนเร็ว 147 ไอโซเลต และประเภทเพิ่มจำนวนช้า 51 ไอโซเลต เนื่องจากสายพันธุ์ NA7 เป็นไรโซเบียมถั่วเหลืองประเภทเพิ่มจำนวนช้า จึงหาลายพิมพ์ดีเอ็นเอของแบคทีเรีย ประเภทเพิ่มจำนวนช้า 51 ไอโซเลต และพบลายพิมพ์ดีเอ็นเอของสายพันธุ์ NA7 ในสัดส่วน 25.5%