รายละเอียดบทคัดย่อ


กฤษดา บำรุงวงศ์ . ผลกระทบของการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวทนน้ำท่วมต่อระบบเศรษฐกิจไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.275-282.

บทคัดย่อ

         การปลูกข้าวมีความสำคัญต่อประเทศไทยทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นกิจกรรมภาคการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดมีส่วนแบ่งในที่ดินถือครองทำการเกษตร ร้อยละ 52 ในบรรดาข้าวหลากหลายพันธุ์ที่ปลูกข้าวหอมมะลิ สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่มีแหล่งปลูกสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวคุณภาพดีเป็นที่นิยมในการบริโภค และเกษตรกรขายได้ราคาสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นประมาณร้อยละ 30 อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญของการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เกษตรกรเผชิญเป็นประจำคือปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 ของผลผลิตรวม จากปัญหาดังกล่าวศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยใช้เทคนิค MAS ที่ช่วยย่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์ ให้มีคุณสมบัติทนต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งฟื้นฟูการเจริญเติบโตได้ดีภายหลังน้ำลดซึ่งช่วยลดความเสียหายของผลผลิตและการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในทางเศรษฐศาสตร์เมื่อมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นฟังก์ชั่นการผลิตจะเปลี่ยนไป กล่าวคือสำหรับจำนวนปัจจัยการผลิตที่เท่าเดิม ผลผลิตที่ได้รับรวมก็จะมากขึ้นกว่าก่อนมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวเป็นการลงทุนทางเทคโนโลยีที่สำคัญ การศึกษานี้จึงต้องการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทยเป็นการวิเคราะห์ในมิติมหภาค เน้นการตัดสินใจในเชิงสังคมเป็นสำคัญ โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium: CGE)” เพื่อทำการประเมินผลกระทบของการพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 กรณี คือ 1) ผลกระทบความเสียหายจากการสูญเสียผลผลิตข้าวขาวดอกมะลิเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม 2) ประเมินผลกระทบเมื่อมีการพัฒนาข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน ร่วมกับการจัดการที่เหมาะสมเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมผลการวิเคราะห์ในกรณีเกิดภาวะน้ำท่วมที่กระทบต่อการผลิตข้าวขาวดอกมะลิ พบว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,430 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่า GDP ในปี 2549 7.5 ล้านล้านบาท มูลค่าการส่งออกลดลงประมาณ 1,900 ล้านบาท ส่วนภาคครัวเรือนพบว่าครัวเรือนเกษตรสูญเสียรายได้ประมาณ 1,700 ล้านบาท ส่งผลให้มีครัวเรือนเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยากจนเพิ่มขึ้น 18,000 ครัวเรือน เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นความยากจนในปี 2543 แต่ในกรณีที่มีการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลันร่วมกับการจัดการที่เหมาะสมเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม มีผลผลิต เพิ่มขึ้น 390,000 ตัน ส่งผลให้มูลค่า GDP เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ1,800 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 3,200 ล้านบาท โดยเฉพาะครัวเรือน การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสามารถลดความยากจนลงได้ 12,000 ครัวเรือน