รายละเอียดบทคัดย่อ


ปัญญา มัฆะศร . เครื่องต้นแบบแหล่งกำเนิดแสงเทียม สำหรับการปลูกต้นไม้ด้วยระบบการควบคุมการเปิดและปิดแสงแบบอัตโนมัติ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.321-328.

บทคัดย่อ

         งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลองที่ต้องการหาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานแสงจากแหล่งกำเนิดแสงเทียมที่ใช้ไดโอดเปล่งแสง (LED) ชนิดพิเศษ ในย่านความถี่แสงสีแดงเท่ากับ 660 นาโนเมตรจำนวน 30 หลอดและในย่านความถี่แสงสีน้ำเงินเท่ากับ 470 นาโนเมตรจำนวน 10 หลอด เป็นจำนวน 2 ชุด ที่มีจำนวนหลอดในแต่ละชุดเท่ากับ 40 หลอด ซึ่งจะใช้สำหรับการสังเคราะห์แสง เพื่อแก้ปัญหาจากการเพาะปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่ไม่มีแสงแดด หรือมีแสงแดดจำกัด อาทิเช่น การเพาะปลูกในฤดูหนาวที่มีจำนวนแสงแดดน้อยมาก โดยต้นไม้ที่ใช้ในการทดลอง คือ ต้นพลูด่าง (Epipremnum Aureum) ที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างและกลุ่มทดลอง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะไม่มีการใช้แหล่งกำเนิดแสงเทียม แต่อาศัยแสงสว่างปกติภายในห้องทดลอง ณ อุณหภูมิห้องปกติ ส่วนกลุ่มทดลองจะรับแสงสว่างจากแหล่งกำเนิดแสงเทียมและเลี้ยงในภาชนะที่เตรียมไว้ที่ขนาดความกว้างเท่ากับ 20 เซ็นติเมตร ความยาวเท่ากับ 40 เซ็นติเมตร และ ความสูงเท่ากับ 30 เซ็นติเมตร ที่มีอุณหภูมิในช่วงเฉลี่ย 30.4 องศาเซลเซียสและปริมาณความเข้มแสง สำหรับการทดลองในช่วง 928.65 ลักส์ โดยใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมระบบการปิดและเปิดแสงแบบอัตโนมัติ ซึ่งจำนวนวันที่ทดลองและเก็บผล คือ จำนวน 5 วัน ผลสรุปจากการสังเกต พบว่า ต้นไม้ที่เลี้ยงในกลุ่มทดลองที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงเทียมจะมีใบมีสีกะขาวกระจายทั่วไปเกือบตลอดทุกๆใบและมีขนาดความกว้างของใบเฉลี่ยเท่ากับ 1 เซ็นติเมตรและลำต้นมีขนาดปกติ เมื่อปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ใบจะมีสีเขียวตลอดทั้งใบ โดยมีจุดกะขาวกระจายน้อยมากๆ ขนาดความกว้างของใบน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มทดลอง ส่วนลำต้นมีขนาดปกติ ส่วนดังนั้น การให้แสงเทียมที่ขนาดความเข้มของคลื่นแสงที่ทดสอบจะส่งผลต่อใบมากกว่าลำต้น ส่วนวงจร อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการควบคุมการปิดและเปิดแสงแบบอัตโนมัติมีประสิทธิภาพการทำงานเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์ และสิ้นเปลืองกำลังไฟฟ้าที่ใช้งานฉลี่ยเท่ากับ 0.3 วัตต์