รายละเอียดบทคัดย่อ


ศศิประภา แถวถาทำ และ ถาวร อ่อนประไพ . การใช้ระบบสารสนเทศเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในลุ่มน้ำย่อยแม่ขะนาด ลุ่มน้ำแม่ทา จังหวัดลำพูน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.337-345.

บทคัดย่อ

         การศึกษาเรื่อง “การใช้ระบบสารสนเทศเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจการพัฒนาแหล่งน้ำที่ชุมชนมีส่วนร่วมในลุ่มน้ำย่อยแม่ขะนาด ลุ่มน้ำแม่ทา จังหวัดลำพูน” ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ของพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยแม่ขะนาด เพื่อใช้ในการอธิบายลักษณะทางกายภาพและสภาพทรัพยากรที่ดินที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำในพื้นที่ เช่น สภาพภูมิประเทศ ดิน แหล่งน้ำ และศึกษาระดับความเหมาะสมของที่ดิน สำหรับการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยแม่ขะนาด โดยใช้วิธีการประเมินคุณภาพที่ดินด้วยปัจจัยทางด้านกายภาพโดยใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจการพัฒนาแหล่งน้ำที่ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมการศึกษานี้ใช้วิธีการของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics Technology) ทำการพัฒนาชุดของ ฐานข้อมูลระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS Database ) เพื่อประเมินความเหมาะสมของที่ดินในการหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ โดยสารสนเทศที่ได้จากการวิเคราะห์สามารถใช้แสดงแนวทางและสนับสนุนการตัดสินใจการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามความเหมาะสมทางด้านกายภาพของพื้นที่ในลุ่มน้ำย่อยแม่ขะนาด วิธีการดำเนินงานเริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ได้แก่ ข้อมูลขอบเขตลุ่มน้ำ ค่าความลาดชัน สภาพภูมิประเทศ ด้วยชุดข้อมูลระดับความสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model, DEM) ข้อมูลปริมาณน้ำเฉลี่ย ปริมาณตะกอน ด้วยการใช้แบบจำลอง Soil and Water Assessment Tool (SWAT) และข้อมูลสภาพการใช้ที่ดินปัจจุบันด้วยข้อมูลจากระยะไกล ซึ่งได้นำข้อมูลดังกล่าวมาแปลงเข้าสู่ ระบบคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลแผนที่เชิงเลข (digital map) ให้มี รูปแบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมในการประเมินคุณภาพที่ดินสำหรับการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยแม่ขะนาด จากนั้น นำชั้นข้อมูลในฐานข้อมูลชุดดังกล่าวมากำหนดค่าถ่วงน้ำหนักและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการซ้อนทับเชิงพื้นที่ (spatial overlaying) ด้วยโปรแกรม ArcGIS 9.2 เพื่อหาพื้นที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต่อไป ความเหมาะสมของพื้นที่สามารถถูกแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ เหมาะสมที่สุด เหมาะสม ปานกลาง เหมาะสมเล็กน้อย และ ไม่เหมาะสม สามารถนำข้อมูลที่ได้สนับสนุนระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ข้อมูลระดับความเหมาะสมของที่ดิน และข้อมูลความเป็นไปได้ ตลอดจนแนวทางในการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ให้กับชุมชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อนำไปช่วยตัดสินใจในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยแม่ขะนาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ