รายละเอียดบทคัดย่อ


เทวินทร์ แก้วเมืองมูล และ ชาญชัย แสงชโยสวัสดิ์ . อิทธิพลของการเกษตรต่อปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ทา โดยใช้แบบจำลอง SWAT.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.356-364.

บทคัดย่อ

         ความแปรปรวนของการจัดการทรัพยากรต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำจะส่งผลถึงปริมาณน้ำท่าที่ออกจากพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยมีผลต่อการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิตพืชเกษตร ซึ่งกระทบกับพื้นที่ทั้งในและนอกลุ่มน้ำเพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น การประเมินปริมาณน้ำท่าจึงมีความจำเป็นต่อการวางแผนการจัดการทรัพยากรการเกษตร การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้แบบจำลอง SWAT (Soil and Water Assessment Tools) ที่เป็นแบบจำลองอุกวิทยาเชิงกายภาพ มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ และประมวลผลเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องทั้งรายวัน รายเดือน และรายปีได้ โดยอาศัยข้อมูล แบบจำลองความสูงเชิงเลข (DEM) ข้อมูลแหล่งน้ำ ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลชุดดิน และข้อมูลภูมิอากาศ เพื่อสร้างเป็นหน่วยจัดการทรัพยากรน้ำ (Hydrologic Respond Unit, HRU) ของพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยเลือกพื้นที่ ลุ่มน้ำแม่ทา อ.แม่ทา จ.ลำพูน เป็นพื้นที่ศึกษา และได้ทำการปรับมาตรฐานแบบจำลองในช่วงเวลา ปี 2542 ถึง ปี 2551 กับจุดวัดน้ำ P.77 ของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคเหนือตอนบน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลจากการศึกษาพบว่าแบบจำลอง SWAT สามารถใช้ในการประเมินปริมาณน้ำท่า โดยมีความถูกต้องในระดับที่น่าพอใจ (R2 = 0.72, E = 0.72) ทั้งนี้ได้ทำการปรับปรุงข้อมูลโดยอาศัยข้อมูลอ่างเก็บน้ำ และรูปแบบของระบบการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับการจัดการข้อมูลในพื้นที่ เพื่อให้ผลการประเมินน้ำท่าและตะกอนที่ได้จากแบบจำลองมีค่าถูกต้องแม่นยำมากขึ้น