รายละเอียดบทคัดย่อ


ถาวร อ่อนประไพ เมธี เอกะสิงห์ เบญจพรรณ เอกะสิงห์ ชาญชัย แสงชโยสวัสดิ์ วรวีรุกรณ์ วีระจิตต์ และ เทวินทร์ แก้วเมืองมูล . การประเมินสถานภาพลุ่มน้ำย่อย กรณีศึกษา; ลุ่มน้ำแม่ทา จ.เชียงใหม่ - จ.ลำพูน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.386-394.

บทคัดย่อ

         ลุ่มน้ำแม่ทา เป็นลุ่มน้ำย่อยสาขาหนึ่งของลุ่มน้ำแม่กวงและแม่ปิงตามลำดับ พื้นที่ของลุ่มน้ำแม่ทาแบ่งออกเป็น 3 เขตตามสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ คือลุ่มน้ำแม่ทาตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ซึ่งลักษณะสภาพภูมิประเทศทำให้ลุ่มน้ำแม่ทามีข้อจำกัดในเรื่องที่ดินและทรัพยากรสำหรับทำการเกษตร บางพื้นที่มีข้อขัดแย้งในเรื่องการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งด้วยข้อจำกัดดังกล่าวภายในลุ่มน้ำ ทำให้ชาวบ้าน และเกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพไม่มากนัก นอกจากนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ทายังเกิดปัญหาภัยพิบัติที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำทั้งภัยแล้งรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง และน้ำท่วมรุนแรงในช่วงฤดูฝน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม การประเมินสถานภาพลุ่มน้ำย่อยภายในลุ่มน้ำแม่ทา ใช้วิธีจัดลำดับความสำคัญและประเมินหลักเกณฑ์ที่มีผลต่อทรัพยากรในระดับลุ่มน้ำย่อย ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเตือนความเสื่อมโทรมของลุ่มน้ำ และใช้เป็นแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในลุ่มน้ำ โดยหลักเกณฑ์ทางด้านนิเวศการผลิตทางเกษตร และเศรษฐกิจ-สังคม ได้ถูกนำมาวิเคราะห์และพัฒนาเป็นชั้นข้อมูลเชิงพื้นที่ จำนวน 12 หลักเกณฑ์ย่อย ได้แก่ 1) ปริมาณมวลชีวภาพของพืชพรรณ 2) ความหลากหลายของพืชพรรณ 3 ) อัตราการชะล้างและสะสมของดินในลุ่มน้ำย่อย 4) สัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินทางเกษตรในพื้นที่อนุรักษ์ 5) ปริมาณน้ำที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จากพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย 6) สัดส่วนพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำ 7) สัดส่วนพื้นที่ชลประทานต่อพื้นที่เกษตรกรรม 8) ความเสี่ยงต่อการการเกิดภัยแล้งในพื้นที่เกษตรกรรม 9) ความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ เกษตรกรรม 10) ความหนาแน่นของประชากร 11) รายได้ภาคเกษตร และ 12) ระดับการพัฒนาของชุมชน โดยชั้นข้อมูลของหลักเกณฑ์เหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการกำหนดค่าความสำคัญที่มีผลกระทบต่อลุ่มน้ำที่แตกต่างกันด้วยโปรแกรมร่วมตัดสินใจ (รตส.) และทำการประเมินสถานภาพลุ่มน้ำย่อยด้วยโปรแกรมระบบตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์เชิงพื้นที่ (Multi-criteria Decision Analysis - GIS; MCDA-GIS) ผลการประเมินสถานภาพของลุ่มน้ำย่อยในลุ่มน้ำแม่ทา สามารถแสดงด้วยแผนที่กำหนดช่วงชั้นค่าดัชนีความสำคัญ 5 ระดับ (ค่า 0 – 1) ซึ่งเป็นมุมมองของชุมชนและเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในลุ่มน้ำ โดยสามารถนำผลไปใช้เป็นสารสนเทศให้เกิดประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการลุ่มน้ำย่อย ตลอดจนการวางแผนและการกำหนดนโยบายการจัดการลุ่มน้ำแม่ทาได้ต่อไป