รายละเอียดบทคัดย่อ


พงษ์ชัย ดำรงโรจน์วัฒนา Guy Trebuil นันทนา คชเสนี และ Christophe Le Page . การเสริมสร้างกระบวนการการจัดการอย่างมีส่วนร่วมระหว่างเกษตรกรชาวเขาผู้เลี้ยงวัวและเจ้าหน้าที่ปาไม้ บนพื้นที่สูง จ.น่าน โดยใช้เกมสวมบทบาทสมมุติ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.417-427.

บทคัดย่อ

         แม้ว่าภาครัฐได้กระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกรยังคงเกิดขึ้น ดังเช่นกรณีความขัดแย้งด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเลี้ยงวัวแบบปล่อยป่าของเกษตรกรชาวเขาเผ่าม้ง หมู่บ้านดอยติ้วและเพื่อการปลูกป่าของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ บนพื้นที่สูงของจังหวัดน่าน บทความนี้นำเสนอการใช้เกมสวมบทบาทสมมุติร่วมกับคอมพิวเตอร์ (Computer-assisted Role playing game) ในการจำลองปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงวัวและการทดแทนพื้นที่ป่าไม้ ภายใต้กรอบแนวคิดของแบบจำลองเพื่อนคู่คิด (Companion Modelling) เพื่อทำความเข้าใจระบบและส่งเสริมการเรียนรู้และวางแผนการจัดการร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การเล่นเกมจัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกจัดขึ้นระหว่างเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ปลูกป่าในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 พบว่าเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ปลูกป่ามีความเข้าใจเกมและอุปกรณ์ที่ ใช้ มีความเข้าใจกันมากขึ้นและตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้เกษตรกรได้เสนอให้นักวิจัยสร้างเกมเพื่อทดสอบการเลี้ยงวัวรูปแบบใหม่โดยปลูกหญ้ารูซี่และการหมุนเวียนแปลงเลี้ยงวัว ขณะที่เจ้าหน้าที่ปลูกป่าได้เสนอให้มีการจำลองพื้นที่ในเกม เพื่อทดสอบความสนใจของเกษตรกรในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว และทั้งสองฝ่ายยังได้ขอให้นักวิจัยเชิญเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ เช่น อุทยานแห่งชาตินันทบุรีและปศุสัตว์อำเภอเข้าร่วมกิจกรรมด้วย นักวิจัยจึงได้ปรับปรุงแบบจำลองและจัดเกมครั้งที่สองขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งพบว่าเกษตรกรมีความสนใจในการปลูกหญ้ารูซี่และได้พูดคุยกับทางปศุสัตว์อำเภอและได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์หญ้า จากการจัดเกมทั้งสองครั้งนี้สรุปได้ว่าเกมดังกล่าวสามารถช่วยเป็นสื่อให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาแนวทางการจัดการข้อขัดแย้งร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ปลูกป่าและเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว อย่างไรก็ตามผู้ที่เข้าร่วมเล่นเกมระบุว่าต้องการให้เกษตรกรรายอื่น ๆ มาร่วมเล่นเกมด้วยเพื่อแป็นการขยายผล ดังนั้น นักวิจัยได้จึงวางแผนพัฒนาเกมสวมบทบาทสมมุตินี้ให้เป็นแบบจำลองภาคี (Agent-based model) บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะสามารถใช้กับผู้เล่นจำนวนมากและประหยัดเวลามากขึ้น