รายละเอียดบทคัดย่อ


ขจรวิทย์ พันธุ์ยางน้อย ศรีสุดา ทิพยรักษ์ สนิทพิมพ์ สิมมาทัน ญาณิน สุปะมา . ภาคนิทรรศการ (Poster) : ศักยภาพระบบการผลิตพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่พืชไร่เป็นหลัก จังหวัดขอนแก่น.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.428-438.

บทคัดย่อ

         วัตถุประสงค์ของงานวิจัยเพื่อเข้าใจศักยภาพระบบการผลิตพืชในพื้นที่พืชไร่เป็นหลักจังหวัดขอนแก่น และพัฒนาเกษตรกรไปสู่การผลิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนตุลาคม 2550 มีขั้นตอนการดำเนินการ คือ 1) การเลือกพื้นที่ 2) การวิเคราะห์พื้นที่ 3) การวางแผนการวิจัย และ 4) การดำเนินการวิจัยคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่ปลูกพืชไร่เป็นหลัก ที่ตำบลห้วยแก อำเภอชนบท ตำบลเขาสวนกวาง ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา และอำเภอเขาสวนกวาง เกษตรกร 10 ราย พบว่า ประเด็นปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ศัตรูพืช เช่น อ้อยเป็นโรคใบขาว มันสำปะหลังหัวเน่า เกษตรกรมีรายได้ต่ำและมีปัญหาหนี้สิน ระบบการผลิตพืชของเกษตรกร จำแนกได้ 2 รูปแบบ คือ เกษตรผสมผสาน 9 ราย และเกษตรอินทรีย์ 1 ราย ซึ่งเกษตรกร 1 ราย สามารถดำเนินการผลิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนเกษตรกรอีก 9 ราย ยังต้องพัฒนาเพิ่มอีกโดยเน้นการปรับเปลี่ยนระบบพืชเดี่ยวเป็นระบบเกษตรผสมผสาน ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านพืชเข้าไปพัฒนาและทดสอบ พืชอายุสั้น เช่น ถั่งลิสง ถั่วฝักยาวไร้ค้าง ข้าวโพดหวาน ถั่วเขียว พืชอายุยาว เช่น ไม้ผล ไม้ใช้สอย ตลอดจนพัฒนาการผลิตพืชไร่โดยนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร เช่น อ้อย พันธุ์ขอนแก่น 3 มันสำปะหลัง พันธุ์ระยอง 5 และ ระยอง 9 ผลการดำเนินงานในช่วง 1 ปี เกษตรกรที่ร่วมดำเนินการมีรายได้จากกิจกรรมเสริม 400-24,000 บาท สำหรับไม้ผลและไม้ใช้สอยถึงแม้ว่าจะยังไม่ให้ผลผลิตแต่เกษตรกรมีความพอใจ เนื่องจากต้องการทดลองทางเลือกใหม่ซึ่งคาดหวังผลผลิตและเนื้อไม้ไว้ใช้สอยในระยะยาว