รายละเอียดบทคัดย่อ


พรทิพย์ แพงจันทร์ ศักดิ์สิทธิ์ จรรยากรณ์ ศศิธร ประพรม จารุรัตน์ พุ่มประเสริฐ อรัญญา ลุนจันทา จุฑามาส ศรีสำราญ ปราณี วรเนตรสุดาทิพย์ วัชราพร ศรีสว่างวงศ์ อรพรรณ วิเศษสังข์ . ภาคนิทรรศการ (Poster) : การพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนส (โรคกุ้งแห้ง) โดยใช้แนวทางการผลิตพริกแบบผสมผสาน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.439-445.

บทคัดย่อ

         ดำเนินการพัฒนาการผลิตพริกแบบผสมผสานโดยมุ่งพัฒนามาตรฐานคุณภาพพริกให้สูงขึ้น มีความปลอดภัยโดยเน้นให้เกษตรกรมีส่วนร่วม เมื่อได้ผลดีในระดับหนึ่งแต่ยังพบประเด็นปัญหาในเรื่องของโรคแอนแทรคโนสหรือโรคกุ้งแห้งโดยเฉพาะการผลิตพริกในฤดูฝนจึงได้ดำเนินการทดสอบเชิงทาบซ้อน (Super Impose) เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคแอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้งในผลพริก อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2551 ดำเนินการทดสอบกับเกษตรกร 15 รายเพื่อศึกษากรรมวิธีผสมผสานเปรียบเทียบกับวิธีเดิมของเกษตรกร ทำการผลิตพริกโดยใช้วิธีการจัดการแบบผสมผสาน คือ แช่เมล็ดพริกในน้ำอุ่น 50-55 องศาเซลเซียส นาย 15-20 นาทีใส่ปูนขาวรองพื้นอัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่ เก็บพริกที่เป็นโรคแอนแทรคโนสออกนอกแปลงและเผาทิ้ง พ่นแคลเซียมไนเตรท หรือแคลเซียมโบรอนอัตรา 60-80 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นสารแมนโคเซบสลับกับโปรคลอราชอัตรา 30-40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร พื้นที่จังหวัดสกลนคร พบว่าผลผลิตพริกเป็นโรคแอนแทรคโนสเฉลี่ย 6 %(ผลผลิตดี 94%) ไม่พบสารพิษตกค้างในผลผลิต พื้นที่จังหวัดชัยภูมิ พบว่าผลผลิตพริกเป็นโรคแอนแทรคโนสเฉลี่ย 18 %(ผลผลิตดี 82 %) ไม่พบสารพิษ ตกค้างในผลผลิต ส่วนพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าผลผลิตพริกเป็นโรคแอนแทรคโนสเฉลี่ย 16 % (ผลผลิตดี 84%) เมื่อตรวจสารพิษตกค้างในผลผลิตไม่พบสารพิษตกค้างในผลผลิต 4 ราย มีเพียง 1 รายที่พบแต่ไม่เกินค่า MRL ในขณะที่วิธีเกษตรกรพบผลพริกที่เป็นโรคแอนแทรคโนสเฉลี่ยในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ชัยภูมิ และขอนแก่น เป็น 35 % (ผลผลิตดี 65%) 24% (ผลผลิตดี 76%) และ 26% (ผลผลิตดี 74%) ตามลำดับ เมื่อดูรายได้ ต้นทุน และผลตอบแทน ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ชัยภูมิ และขอนแก่น พบว่า กรรมวิธีผสมผสานในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 50,954 บาท/ไร่ รองลงมาคือ พื้นที่ขอนแก่นและชัยภูมิได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 43,350 บาท/ไร่ 8,709 บาท/ไร่ ตามลำดับ ส่วนวิธีเกษตรกรให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 28,200 บาท/ไร่ 8,651 บาท/ไร่ และ 16,425 บาท/ไร่ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ชัยภูมิ และขอนแก่น ตามลำดับ