รายละเอียดบทคัดย่อ


ยุภาพร ศิริบัติ บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ . ภาคนิทรรศการ (Poster) : มูลค่าทางเศรษฐกิจของการจัดการทรัพยากรชีวภาพทางการเกษตรในพื้นที่ชุ่มน้ำของเกษตรกรรายย่อย: กรณีศึกษาชุมชนบ้านดงสาร ต.โพนงาม อ. อากาศอำนวย จ. สกลนคร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.469-477.

บทคัดย่อ

         บ้านดงสาร ต.โพนงาม อ. อากาศอำนวย จ. สกลนคร เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำของลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง วิถีชีวิตของชุมชนบ้านดงสารมีความผูกพันกับภาวะน้ำท่วมประมาณกว่า 3-4 เดือน (สิงหาคม – พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วของแม่น้ำโขงทำให้น้ำหลากสู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสงคราม ในฤดูฝนนั้นมีพื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 10 ที่สามารถปลูกข้าวนาปีได้ ดังนั้นการจัดการทรัพยากรชีวภาพทางการเกษตรมีผล ต่อวิถีชีวิตและความอยู่รอดของเกษตรกร งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลทางเศรษฐกิจทางตรงการจัดการทรัพยากรชีวภาพทางการเกษตรที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของครัวเรือนเกษตรกร โดยวิธีการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม การสำรวจรูปแบบการจัดการ การประชุมกลุ่มย่อยเกษตรกร การสัมภาษณ์รายครัวเรือนและการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณผลการศึกษาพบว่าวิถีชีวิตของประชากรชุมชนบ้านดงสารประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ปลูกข้าวเพื่อการบริโภคในครัวเรือน มีเพียงร้อยละ 53 ของครัวเรือนที่มีพื้นที่ทำนาปี ผลผลิตข้าวเฉลี่ยเพียง 362 กก. ต่อไร่ ชุมชนมีการปรับพื้นที่เพื่อปลูกข้าวนาปรังเพื่อแก้ปัญหาปัญหาข้าวไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการบริโภค นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินวิถีชีวิตเพื่อความอยู่รอดโดยการจัดการและพึ่งพิงทรัพยากรชีวภาพทางการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งอาหารและรายได้ ด้วยรูปแบบการรวมกลุ่มทางสังคมในกระบวนการพัฒนากฎระเบียบและกติกาการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะป่าทามทุ่งพันขัน แหล่งน้ำธรรมชาติ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของชุมชน โดยผลทางเศรษฐกิจทางตรงทั้งที่เป็นเงินสดและไม่ใช่เงินสดต่อครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยมีมูลค่ารวม 114,868 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เป็นมูลค่าจากผลิตภัณฑ์การประมง ไส้เดือนดิน การเก็บเห็ด การเก็บหน่อไม้ การเก็บผักป่าพื้นบ้านจำนวน 84,066 15,865 7,743 4,574 และ 2,620 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ตามลำดับ