รายละเอียดบทคัดย่อ


 . ความแปรปรวนของการพัฒนาเมล็ดของข้าวเหนียวก่ำพื้นเมือง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.16-23.

บทคัดย่อ

         งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาลำดับและความแปรปรวนของการพัฒนาเมล็ดภายในรวง รวมถึงการปรากฎรงควัตถุแอนโธไซยานินบนเมล็ดของพันธุ์ข้าวเหนียวก่ำ ผลการศึกษาพบว่าข้าวเหนียวก่ำทุกพันธุ์ มีลักษณะการพัฒนาเมล็ดที่คล้ายคลึงกัน โดยหลังจากเมล็ดข้าวปฎิสนธิ 2 วัน เมล็ดข้าวมีการพัฒนาของเมล็ดอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เมล็ดเริ่มมีการแบ่งและขยายเซลส์จากทางโคนเมล็ดก่อนแล้วมีการพัฒนาของเมล็ดทางยาวจากโคนเมล็ดไปยังปลายเมล็ด ในระยะนี้ไม่พบว่ามีการปรากฎของรงควัตถุแอนโธไซยานิน รงควัตถุแอนโธไซยานินเริ่มถูกตรวจพบหลังจากข้าวปฎิสนธิ 8 วัน บริเวณขอบเมล็ดที่ถูกห่อหุ้มด้วยกลีบดอกเล็ก (palea) หลังจากเมล็ดข้าวปฎิสนธิ 10 วัน รงควัตถุได้กระจายไปทั่วเมล็ด จากนั้นสีเข้มขึ้นจนถึงระยะสุกแก่ (28 วันหลังปฏิสนธิ) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการสะสมสารแอนโธไซยานิน เริ่มมีการสะสมหลังจากเมล็ดได้สะสมแป้งเต็มเมล็ด ลำดับการพัฒนาเมล็ดบนรวงเดียวกันมีการผสมเกสรจากปลายรวงลงสู่โคนรวง และเริ่มจากระแง้ปฐมภูมิ ไปสู่ระแง้ทุติยภูมิ และระแง้ถัดไป การพัฒนาเมล็ดแผ่กระจายไปทั้งรวงเมื่อ 17 วันหลังแทงรวง สำหรับความแปรปรวนของการพัฒนาเมล็ดภายในรวง พบว่าข้าวเหนียวก่ำพันธุ์ที่มีเมล็ดยาว มีแนวโน้มของความแตกต่างของน้ำหนักเมล็ดในส่วนปลายและโคนรวงมากกว่าข้าวพันธุ์ที่มีลักษณะเมล็ดป้อมสั้น