รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การวิเคราะห์ความสัมพันธ์และสัมประสิทธิ์เส้นทางของลักษณะทางพืชไร่ ผลผลิตและ สารฟีนอลิคทั้งหมดในเมล็ดของข้าวเหนียวก่ำพื้นเมือง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.24-33.

บทคัดย่อ

         การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ และวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์เส้นทาง ของลักษณะทางพืชไร่กับผลผลิต และปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมดในเมล็ด ทำการทดลองโดยการปลูกข้าวเหนียวก่ำ 26 พันธุ์ ณ แปลงทดลองวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน ระหว่างเดือนมีนาคม – ธันวาคม 2550 ทำการบันทึกข้อมูลพัฒนาการของข้าว ผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิต รวมทั้งปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมด (total phenoliccontent) ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของลักษณะทางพืชไร่กับผลผลิต พบว่าผลผลิตมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความยาวรวง และน้ำหนัก 1,000 เมล็ด แต่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับจำนวนวันหลังปลูกถึงระยะแทงรวง และจำนวนเมล็ดลีบต่อรวง ขณะเดียวกันพบว่าน้ำหนัก 1,000 เมล็ด และความยาวรวงมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมด และจากการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์เส้นทาง พบว่าน้ำหนัก 1,000 เมล็ดมีอิทธิพลรวมค่อนข้างสูงต่อผลผลิต (0.623) ในขณะเดียวกันยังพบว่าอิทธิพลทางอ้อมของน้ำหนัก 1,000 เมล็ดที่ผ่านความยาวรวง (0.272) มีค่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และยังพบว่าความยาวรวงมีอิทธิพลทางตรงต่อผลผลิตโดยที่มีค่าเป็นลบ (-0.072) แต่พบว่ามีอิทธิพลทางอ้อมของความยาวรวงที่ผ่านน้ำหนัก 1,000 เมล็ด (0.327) ที่มีค่าเป็นบวกส่งผลให้อิทธิพลรวมเป็นบวก ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวสามารถชี้ให้เห็นว่า น้ำหนัก 1,000 เมล็ด และความยาวรวงเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อผลผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวก่ำพื้นเมืองเพื่อให้ได้ผลผลิตและปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมดสูงควรคำนึงถึงน้ำหนักเมล็ด และความยาวรวง เป็นลำดับต้นๆ