รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การเจริญเติบโต ผลผลิตและปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมดของข้าวเหนียวก่ำพื้นเมือง ภายใต้วิธีการปลูกและระดับไนโตรเจนที่ต่างกัน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.34-44.

บทคัดย่อ

         การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการตอบสนองของการเจริญเติบโต ผลผลิตและปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมดในเมล็ดของข้าวเหนียวก่ำ ภายใต้วิธีการปลูกและระดับไนโตรเจนที่ต่างกัน ทำการทดลองโดยการปลูกข้าวเหนียวก่ำ 5 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ MHS 1 พันธุ์สะเมิง 3 พันธุ์ PGMHS 6 พันธุ์ PGMHS 15 และพันธุ์PGMHS 17 ภายใต้การปลูกในสภาพปักดำและสภาพไร่ ที่ระดับไนโตรเจน 8, 16 และ 24 กิโลกรัมต่อไร่ ณ แปลงทดลองสถานีวิจัยเกษตรเขตชลประทาน ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างเดือนกรกฎาคม -พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 จากผลการศึกษา พบว่าระยะพัฒนาการของข้าวที่ปลูกในสภาพไร่และสภาพปักดำมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้าวที่ปลูกในสภาพปักดำใช้อุณหภูมิสะสมจากระยะหว่านกล้าถึงระยะที่ข้าวมีน้ำหนักแห้งใบและต้นสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 2,206 องศาเซลเซียส ซึ่งเทียบเท่ากับ 118 วัน ในขณะที่ข้าวที่ปลูกในสภาพไร่ที่ใช้อุณหภูมิสะสมเท่ากับ 1,885 องศาเซลเซียส (99 วัน) สำหรับการสะสมน้ำหนักต้น ใบและรวงนั้น พบว่า ข้าวที่ปลูกในสภาพไร่มีน้ำหนักแห้งใบและต้นสูงสุดเฉลี่ย (1,791 กิโลกรัมต่อไร่) และน้ำหนักแห้งรวงสูงสุดเฉลี่ย (3.5 กรัมต่อรวง) มากกว่าข้าวที่ปลูกในสภาพปักดำ ซึ่งเท่ากับ 675 กิโลกรัมต่อไร่ และ 2.89 กรัมต่อรวง ตามลำดับนอกจากนั้นยังพบว่าไนโตรเจนส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักมวลชีวภาพอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผลผลิตนั้นข้าวพันธุ์สะเมิง 3 ที่ปลูกในสภาพไร่ ให้ผลผลิตสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 294 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับข้าวที่ปลูกแบบปักดำนั้นพบว่าข้าวทุกพันธุ์ให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน เฉลี่ยเท่ากับ 147 กิโลกรัมต่อไร่ ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้าวที่ปลูกในสภาพปักดำ พบว่าผลผลิตมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความยาวรวง น้ำหนักฟางและจำนวนหน่อต่อกอ ในขณะที่ข้าวที่ปลูกในสภาพไร่พบว่า ผลผลิตมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับจำนวนเมล็ดดีต่อรวง จำนวนรวงต่อกอและค่าดัชนีการเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปแล้ว ปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมดในเมล็ดของข้าวที่ปลูกในสภาพไร่ พบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างพันธุ์ อย่างไรก็ตามในการปลูกในสภาพปักดำ พบว่าปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่เพิ่มขึ้น