รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนของประเทศไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.127-144.

บทคัดย่อ

         การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม เป็นการเก็บข้อมูลวิจัยประกอบการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนของประเทศไทย โดยได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม เมื่อเริ่มและสิ้นสุดโครงการฯ จากเกษตรกร 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหัตถกรรมกะลามะพร้าวบ้านคอกวัว ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง กลุ่มเกษตรกรทำสวนแสงอรุณ ต.แสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และกลุ่มเกษตรกรทำสวนมะพร้าวตำบลทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อทราบข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนักวิจัยจะหาแนวทางที่เหมาะสมที่จะช่วยเติมเต็มศักยภาพและความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร ผ่านการวิจัยแบบมีส่วนร่วม การอบรม การพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์พันธุกรรมมะพร้าว และเพื่อประเมินผลการเข้าร่วมทำกิจกรรมของโครงการ โดยใช้เส้นความยากจนเป็นเกณฑ์ การสำรวจครั้งแรก พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ มีอายุ 41-50 ปี สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา (ป.4-ป.6) มากกว่า 85%ของเกษตรกร มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง เกษตรกรกลุ่มฯคอกวัว กลุ่มฯแสงอรุณ และกลุ่มฯทุ่งคา มีผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจำนวน 16.7, 14.7 และ 44.2% ตามลำดับ และเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ สำรวจพบว่า มีผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจำนวน 22.7, 0.02 และ 34.12% ตามลำดับ โดยมีรายได้จากมะพร้าวคิดเป็น 31.4, 55.7 และ 44.0% ตามลำดับ เกษตรกรปลูกมะพร้าวเพิ่มจากเดิม 87.4, 224.5, และ 66.9% ตามลำดับ เกษตรกร 38% ของกลุ่มฯทุ่งคา, 34% ของกลุ่มฯแสงอรุณ, และ 48% ของกลุ่มฯ คอกวัว บอกว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากมะพร้าว เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ มีระยะเวลาเพียง 3 ปี จึงไม่เห็นความแตกต่างอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มรายได้ของครัวเรือนเกษตรกรตามที่เกษตรกรบางรายคาดหวังจากการเข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ได้นำประโยชน์มาสู่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าว โดยได้การเริ่มต้นกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ ให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะการได้เพิ่มความรู้ประสบการณ์ จากการอบรม ดูงาน เกษตรกรได้ความรู้และทักษะนำไปประกอบอาชีพ ได้เรียนรู้การดูแลสวนมะพร้าวเพิ่มขึ้น และได้เริ่มใช้พื้นที่ว่างเปล่าในสวนมะพร้าวตระหนักถึงคุณค่าของการปลูกมะพร้าว และเห็นด้วยว่าเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่โครงการฯ ได้มอบไว้ให้แต่ละกลุ่มบริหารจัดการเอง มีประโยชน์ในการนำไปริเริ่มทำกิจกรรมในสวนมะพร้าวเพื่อก่อให้เกิดรายได้