รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การทดสอบรูปแบบระบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชหลัก .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.182-198.

บทคัดย่อ

         การทดสอบรูปแบบระบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชหลัก จังหวัดมหาสารคาม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึง เดือนกันยายน 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบที่มีระบบการผลิตเป็นไปตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับภูมิสังคม รวมทั้งวิจัยและพัฒนาหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตพืชในแต่ละสภาพพื้นที่ อย่างน้อย 1 รูปแบบ เพื่อจะเป็นแบบอย่างที่เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจากผลการดำเนินงานทำให้ได้เกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการ 1 ราย คือนางสมจิตร รัตน์รองใต้ ซึ่งเป็นเกษตรกร ต.นาโพธิ์ อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ได้มีการใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนโดยการวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพืชที่อยู่ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคามได้ทำการจัดฝึกอบรม 4 หลักสูตร ให้กับเกษตรกร ได้แก่ เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และการจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยใช้หลักคิดตามแนวทางการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่าเกษตรกรได้มีการเรียนรู้และได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากขึ้น และมีการทำน้ำหมักชีวภาพโดยใช้วัตถุดิบเศษเหลือจากทำขนมขายในกลุ่มแม่บ้าน เพื่อนำไปใช้ในการแช่และหมักท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนนำไปปลูก ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคามได้เข้าไปทำการทดสอบเบื้องต้น พบว่า มันสำปะหลังที่แช่และหมักท่อนพันธุ์ก่อนนำไปปลูกงอกได้เร็วกว่าไม่แช่น้ำและแช่น้ำเปล่าประมาณ 14-20 วัน และในช่วง 2-3 เดือนแรก มันสำปะหลังจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าท่อนพันธุ์ที่ไม่แช่น้ำและมีการแช่น้ำเปล่า จนเป็นที่สนใจของเกษตรกรข้างเคียง จึงได้มีการจัดการสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้แช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสำหรับเตรียมปลูกมันสำปะหลังโดยรายการสยามทูเดย์ ทางช่อง 5 ได้เข้ามาถ่ายทำรายการร่วมด้วย นอกจากนี้นาง สมจิตร รัตน์รองใต้ ยังได้รวมกลุ่มจัดทำขนมที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และกลายเป็นเกษตรกรที่มีหัวใจพอเพียง ในการทำการเกษตร โดยผลิตพืชไร่เป็นหลัก ทำให้รู้จักใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมมีเหตุมีผลภายใต้เงื่อนไขการใช้ความรู้ และอาศัย แนวคิดคุณธรรมควบคู่กันไป โดยมีการใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนโดยปรัชญาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์กับองค์ความรู้และเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีสุขภาพจิตที่ดี