รายละเอียดบทคัดย่อ


 . ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านกายภาพ เศรษฐกิจสังคม ปัจจัยวีธีการปฏิบัติงานในสวนยาง และปัจจัยด้านจิตวิสัย ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของผู้ทำสวนยางในเขตพื้นที่ราบ ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.199-215.

บทคัดย่อ

         วัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของผู้ทำสวนยาง เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ คัดเลือกหมู่บ้านแบบเฉพาะเจาะจง ที่มีสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบ สุ่มตัวอย่างแบบธรรมดาในแต่ละหมู่บ้านที่ใช้ศึกษา ได้จำนวนตัวอย่างที่ใช้ศึกษาจำนวน 144 ครัวเรือน การศึกษา พบว่า ตัวแปรปัจจัยด้านกายภาพ เศรษฐกิจสังคม ที่มีความสัมพันธ์ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม คือ พื้นที่สวนยาง รายได้ครัวเรือน รายได้จากยางพารา ระยะเวลาประกอบอาชีพ ระดับการศึกษา หนี้สิน และการรับรู้ข่าวสาร ตัวแปรปัจจัยด้านวิธีการปฏิบัติงานในสวนยาง ที่มีความสัมพันธ์ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม คือ การปฏิบัติงานในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช และการปฏิบัติงานในการกรีดยางพารา ตัวแปรปัจจัยด้านจิตวิสัย ที่มีความสัมพันธ์ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม คือ ความคิดเห็นผลกระทบจากการเตรียมพื้นที่ ความคิดเห็นผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมี และความคิดเห็นผลกระทบการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนตัวแปรปัจจัยด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม ที่มีความสัมพันธ์ต่อผลกระทบทางสุขภาวะ คือ รายได้ครัวเรือน รายได้จากยางพารา และการรับรู้ข่าวสาร ตัวแปรปัจจัยด้านวิธีการปฏิบัติงานในสวนยาง ที่มีความสัมพันธ์ต่อผลกระทบทางสุขภาวะ คือการปฏิบัติงานในการดูแลรักษาสวนยาง การปฏิบัติงานในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช และการปฏิบัติงานในการกรีดยางพารา ตัวแปรปัจจัยด้านจิตวิสัย ที่มีความสัมพันธ์ต่อผลกระทบทางสุขภาวะ คือ ความพอใจในการปฏิบัติงาน ความคิดเห็นผลกระทบจากการเตรียมพื้นที่ ความคิดเห็นผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมี ความคิดเห็นผลกระทบการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชต่อสิ่งแวดล้อม ความคิดเห็นผลกระทบการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชต่อสุขภาพ และความคิดเห็นต่อความเป็นไปได้ในการทำสวนยางให้ยั่งยืน จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรมีการรวมตัวเพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติงานตามแนวทางคำสอนทางศาสนา สร้างชุมชนภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง อันจะเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนให้ยั่งยืน