รายละเอียดบทคัดย่อ


 . ผลเชิงเศรษฐกิจของการผสมผสานผักพื้นบ้านและผักเศรษฐกิจในระบบการผลิตโดยไม่ ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช: กรณีศึกษากลุ่มแม่วาง อ. แม่วาง จ.เชียงใหม่.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.265-276.

บทคัดย่อ

         การผลิตผักโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นระบบการผลิตทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรที่ต้องการผลิตพืชอาหารปลอดภัย ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกโดยงดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด กระบวนการผลิตเน้นใช้ความหลากหลายของชนิดผักปลูกหมุนเวียนสลับแปลง ป้องกันศัตรูพืชโดยวิธีกลและเขตกรรม รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมธรรมชาติในแปลงปลูก งานวิจัยเชิงพื้นที่นี้ได้ดำเนินการร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ต. บ้านกาด อ. แม่วาง จ.เชียงใหม่ จำนวน 12 ครัวเรือน ปีการผลิต 2552/53 มีการสนับสนุนวิทยาการและกระบวนการเรียนรู้ด้านการผลิตและการตลาดผ่านการปฏิบัติจริง ผลที่ได้ พบว่า เกษตรกรมีการปลูกพืชผักผสมหมุนเวียนมากกว่า 50 ชนิด ในรอบปี การผสมผสานพืชผักพื้นบ้านบางชนิดที่มีศักยภาพสูงปลูกร่วมกันกับพืชผักเศรษฐกิจในระบบการผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี เป็นการสร้างความหลากหลายในระบบการผลิต เกื้อกูลในด้านสภาพ แวดล้อมเนื่องจากผักบางชนิดสามารถต้านทานโรคแมลง บางชนิดมีคุณสมบัติไล่แมลง ที่สำคัญยังเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างโอกาสทางการตลาด โดยผลจากการที่เกษตรกรนำผลผลิตไปจำหน่ายเองตามหน่วยงานที่ผู้บริโภคมีความต้องการและมีกำลังซื้อสูง ทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ดีในราคาค่อนข้างสูง ข้อมูลจากการจดบันทึกรายรับรายจ่ายในฟาร์มของเกษตรกร พบว่า การปลูกพืชผักพื้นบ้านร่วมกับพืชเศรษฐกิจโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สามารถสร้างผลตอบแทนเหนือต้นทุนเงินสดระหว่าง 40,000 -90,000 บาท/ไร่ และมีผลตอบแทนสุทธิเมื่อหักค่าแรงงานครอบครัวแล้วประมาณ 16,000 - 50,000 บาท/ไร่ แตกต่างกันตามชนิดพืชผักที่เกษตรกรปลูกหมุนเวียนและวิธีการจำหน่าย ผลการดำเนินงานที่ได้ชี้ให้เห็นว่า การผสานผักพื้นบ้านและผักเศรษฐกิจปลูกในระบบการผลิต โดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นระบบการผลิตหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งสร้างโอกาสในการผลิตและเข้าถึงอาหารปลอดภัยที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม