รายละเอียดบทคัดย่อ


 . ผลิตภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในระบบการผลิตพืชสำคัญของจังหวัดลำพูน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.302-316.

บทคัดย่อ

         น้ำเพื่อการเกษตรมีความผันแปรตามสภาพนิเวศเกษตรต่างๆ การจัดทำหน่วยที่ดินเพื่อจัดการทรัพยากรทางเกษตรในจังหวัดลำพูน พบว่ามีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่หลากหลายในพื้นที่ ได้แก่ แหล่งน้ำจากชลประทานขนาดใหญ่ ชลประทานขนาดกลาง และชลประทานขนาดเล็กประเภทฝายและอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำจากโครงการสูบน้ำพลังไฟฟ้า แหล่งน้ำใต้ดิน รวมทั้งที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียวและยังมีการใช้ประโยชน์ที่ดินหลายประเภททั้งพืชล้มลุกและไม้ผล ดังนั้นการประเมินประสิทธิภาพการใช้น้ำจากแหล่งน้ำตามการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทต่างๆ จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการจัดการที่ดินและน้ำได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ค่าดัชนีผลิตภาพการใช้น้ำต่อระบบการผลิตพืช ประเมินจากผลตอบแทนเหนือต้นทุนเงินสดของพืชต่อหน่วยความต้องการใช้น้ำของพืชแต่ละระบบในแต่ละหน่วยการจัดการที่ดิน ซึ่งมีหน่วยเป็นบาทต่อลูกบาศก์เมตรของน้ำ การวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจาการสำรวจเกษตรกร จำนวน 1,086 ครัวเรือน ปีการผลิต 2551/52 พบว่า ค่าดัชนีผลิตภาพการใช้น้ำเพื่อการผลิตพืชมีค่าอยู่ระหว่าง 0.2 – 95.6 บาท/ลบ.เมตร โดยการปลูกข้าวนาปีบนพื้นที่ใช้น้ำบาดาลลึกกว่า 50 เมตร ที่มีสภาพพื้นที่ลาดชัน 5 – 20% มีค่าผลิตภาพการใช้น้ำต่ำสุด (0.2 บาท/ลบ.เมตร) และการปลูกหอมแดงฤดูฝนเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์บนพื้นที่รับน้ำชลประทานร่วมกับการสูบน้ำใต้ดินลึกน้อยกว่า 50เมตร ความลาดชัน0-5% มีผลิตภาพการใช้น้ำสูงที่สุด (95.6 บาท/ลบ.เมตร) ระบบพืชที่มีค่าผลิตภาพการใช้น้ำค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ข้าวนาปี- ข้าวนาปรัง ข้าวนาปี-ถั่วเหลือง ข้าวนาปี-ยาสูบ และข้าวนาปีอย่างเดียว ส่วนระบบพืชที่มีค่าผลิตภาพการใช้น้ำค่อนข้างสูง ได้แก่ การปลูกหอมแดงฤดูฝนเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ ลำไยบางพื้นที่ ข้าว-พืชผัก เป็นต้น และเมื่อเปรียบเทียบตามประเภทแหล่งน้ำ โดยดูจากค่าเฉลี่ย พบว่าผลิตภาพการใช้น้ำในการผลิตและโครงการชลประทานร่วมกับการลึกสูบน้ำใต้ดิน > 50 เมตร มีค่าผลิตภาพการใช้น้ำโดยเฉลี่ยต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตพืชในพื้นที่การใช้น้ำจากโครงการสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้า การผลิตพืชโดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินอย่างเดียว โครงการชลประทานขนาดกลาง และโครงการชลประทานร่วมกับการสูบน้ำใต้ดิน < 50 เมตร