รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การวิเคราะห์โอกาสการเกิดความแห้งแล้งโดยใช้ดัชนีภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนการขยายระบบประกันภัยพืชผลไปยังพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในบางจังหวัดของประเทศไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.355-369.

บทคัดย่อ

         ตั้งแต่ปี 2550 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส)ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยได้ดำเนินการขายประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา สระบุรี เพชรบูรณ์ ลพบุรี และนครสวรรค์อย่างไรก็ตาม ยังขาดความพร้อมในเรื่องข้อมูลและเครื่องมือรองรับระบบประกันภัยแบบใช้ดัชนี จึงทำให้การดำเนินโครงการประกันภัยนี้จำกัดอยู่เฉพาะบางอำเภอใน 5 จังหวัดข้างต้นเท่านั้น ดังนั้น เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการขยายระบบประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังพื้นที่อื่นๆ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์โอกาสความน่าจะเป็นสำหรับการได้รับค่าสินไหมชดเชยสูงสุด (โอกาสเกิดความแห้งแล้งสูง) จากดัชนีปริมาณน้ำฝนย้อนหลัง 30 ปี ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 12 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยเปรียบเทียบช่วงคุ้มครองระหว่าง 3 ช่วงเวลาช่วงเวลาละ 80 วัน คือ 1) 19 ก.ค. - 6 ต.ค., 2) 26 ก.ค. -13 ต.ค. และ 3) 2 ส.ค. - 20 ต.ค. โดยแต่ละทางเลือกแบ่งเป็น 3 ระยะเอาประกัน คือ 1) ช่วงเริ่มการเพาะปลูก 30 วัน, 2) ช่วงการเจริญเติบโต 20 วัน และ 3) ช่วงออกผลผลิต 30 วัน ดัชนีที่ใช้ศึกษาในระยะที่ 1 เป็นดัชนีความแห้งแล้งสะสมมากกว่า 100 มม. ในระยะที่ 2 และ 3เป็นดัชนีน้ำฝนสะสมน้อยกว่า 20 มม.และ 30 มม.ตามลำดับ ผลการศึกษา พบว่า ค่าโอกาสความน่าจะเป็นสำหรับการได้รับค่าสินไหมของทางเลือกที่ 1 มีค่าสูงสุด (0.54) รองลงมาเป็นทางเลือกที่ 2 (0.52) และ 3 (0.49)ตามลำดับ ค่าโอกาสความน่าจะเป็นสำหรับการได้รับค่าสินไหมของระยะที่ 3 มีค่าสูงสุด (0.77) รองลงมาเป็นระยะที่ 2 (0.68) และ 1 (0.10) ตามลำดับ เมื่อเรียงลำดับค่าโอกาสความน่าจะเป็นสำหรับการได้รับค่าสินไหมที่มากกว่า 0.5 ของทั้ง 12 จังหวัด พบว่า พื้นที่ 1,033,631 ไร่, 638,486 ไร่ และ 407,694 ไร่ ของจังหวัดพิษณุโลกนครสวรรค์ และกำแพงเพชรมีโอกาสเกิดความน่าจะเป็นดังกล่าวสูงเป็น 3 อันดับแรก ตามลำดับ ผลการศึกษาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าการทำการเพาะปลูกในระหว่างวันที่ 19 ก.ค. - 6 ต.ค. มีโอกาสได้รับค่าสินไหมชดเชยสูง (เกิดความแห้งแล้งสูง) โดยความแห้งแล้งในช่วงเพาะปลูกดังกล่าวจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7 ก.ย. - 6 ต.ค.ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวโพดให้ผลผลิต ดังนั้นเงินค่าสินไหมชดเชยที่ได้รับในช่วงนี้จึงอาจจะไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป แต่การเพาะปลูกในช่วง 2 ส.ค. - 20 ต.ค.มีโอกาสได้รับค่าสินไหมชดเชยต่ำ (เกิดความแห้งแล้งต่ำ) ทำให้ผลิตได้รับความเสียหายน้อยกว่า ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของเกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชนในธุรกิจการประกันภัย ต่อการนำระบบประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปใช้ยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยต่อไป