รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การจัดการน้ำและปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับระบบชลประทานแบบท่อพีวีซีและระบบสปริงเกลอร์ ของเกษตรกรบนพื้นที่สูงในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ศึก จังหวัดเชียงใหม่.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.370-381.

บทคัดย่อ

         น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งในการผลิตทางการเกษตร การจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้น้ำหรือเกษตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาขึ้น การจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้มีประสิทธิภาพเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายด้าน งานวิจัยนี้ศึกษาการจัดการน้ำชลประทานบนพื้นที่สูงในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับระบบชลประทานแบบท่อพีวีซีของเกษตรกรบนพื้นที่สูงโดยใช้วิธี data mining ผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรบนพื้นที่สูงเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำชลประทานโดยใช้ท่อพีวีซีและระบบสปริงเกลอร์ผ่านความสัมพันธ์เชิงสังคมในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันและความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจต่างชาติพันธุ์ เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีการพัฒนาระบบการจัดการน้ำชลประทานจากระดับปัจเจกชนเป็นการจัดการในรูปกลุ่มย่อยผ่านการลงทุนสร้างบ่อเก็บน้ำร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำชลประทานและมีกลยุทธ์ในการจัดสรรน้ำภายในกลุ่มเมื่อต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำตามระดับความรุนแรงต่างๆ เกษตรกรที่ยอมรับการจัดการน้ำชลประทานแบบท่อพีวีซีและระบบสปริงเกลอร์สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจที่ให้รายได้สูงในฤดูแล้งได้ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับระบบชลประทานแบบท่อของเกษตรกร คือ การเข้าถึงน้ำ ขนาดของพื้นที่เพาะปลูก และปริมาณสินเชื่อที่เกษตรกรได้รับ โดยได้แขนงการตัดสินใจสามารถมีอำนาจพยากรณ์ถูกร้อยละ 96 ของข้อมูลที่นำมาทดสอบ