รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การพัฒนาระบบการผลิตพริกเพื่อนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพพืชอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.382-396.

บทคัดย่อ

         การพัฒนาระบบการผลิตพริกเพื่อนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพพืชอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกที่ปลอดภัยจากสารพิษโดยใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ทดแทนเคมีและแก้ปัญหาโรครากปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอย Meloidogyne spp. ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนให้กับเกษตรกร โดยใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรร่วมกับหน่วยงานอื่นและภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำเนินการระหว่างปี 2551-2552ในพื้นที่ตำบลหนองเหล่า และตำบลหนองฮาง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพริกใน 2 กรรมวิธีคือ กรรมวิธีที่ 1 วิธีปรับปรุง การปลูกพริกโดยใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์และเทคโนโลยีป้องกันกำจัดโรครากปม กรรมวิธีที่ 2 วิธีเกษตรกร ใช้ปัจจัยการผลิตเคมี ไม่ป้องกันกำจัดโรครากปม ผลการทดลองพบว่า วิธีปรับปรุง และวิธีเกษตรกร ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,491 และ 2,401 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ วิธีปรับปรุงให้ผลตอบแทน 27,952 บาท/ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร 5,028 บาท/ไร่ อัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุน (Benefit CostRatio) วิธีปรับปรุง เท่ากับ 2.14 และของวิธีเกษตรกร เท่ากับ 2.02 ผลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผลผลิตพบว่าวิธีปรับปรุง ไม่พบสารพิษตกค้าง ร้อยละ 67 วิธีเกษตรกร พบสารพิษตกค้าง ร้อยละ 100 คุณภาพของผลผลิตตามมาตรฐานวิธีปรับปรุงร้อยละ 83 วิธีเกษตรกรร้อยละ 85 วิธีปรับปรุงพบระดับดัชนีการเกิดปมที่รากพริกเฉลี่ย0.85 (เกิดปมของระบบรากเล็กน้อย) วิธีเกษตรกรพบที่ระดับเฉลี่ย 4.2 (เกิดปม 51-75% ของระบบราก)