รายละเอียดบทคัดย่อ


 . เปรียบเทียบความคิดเห็นระหว่างผู้ทำสวนยางในเขตพื้นที่ราบสูงและพื้นที่ราบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดจากการปฏิบัติงานในสวนยางอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.435-452.

บทคัดย่อ

         วัตถุประสงค์ 1) ศึกษาวิธีการปฎิบัติงานในสวนยางพารา 2) เปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้ทำสวนยางต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ราบสูงและพื้นที่ราบ เป็นศึกษาเชิงปริมาณสัมภาษณ์ผู้ทำสวนยางที่ได้จากการสุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม จำนวน 298 ครัวเรือน เป็นกลุ่มผู้ทำสวนยางในเขตพื้นที่ราบสูง 154 ครัวเรือน และกลุ่มผู้ทำสวนยางในเขตพื้นที่ราบ 144 ครัวเรือน การศึกษา พบว่า ผู้ทำสวนยางเรียนรู้การทำสวนยางจากครอบครัวและฝึกด้วยตนเอง ได้รับข่าวสารจากเจ้าหน้าที่รัฐเฉลี่ยปีละครั้ง และพบว่าผู้ทำสวนยางในที่ราบสูงให้ค่าเฉลี่ยรวมความคิดเห็นผลกระทบจากการเตรียมพื้นที่ปลูกยาง และผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชต่อสุขภาพสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมของผู้ทำสวนยางในเขตพื้นที่ราบ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (P ≤ 0.01) ในขณะที่ผู้ทำสวนยางในเขตพื้นที่ราบสูงให้ค่าเฉลี่ยรวมความคิดเห็นผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมี ผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากการกรีดยางสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมของผู้ทำสวนยางในเขตพื้นที่ราบอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งพบว่าผู้ทำสวนยางในทั้ง 2เขตพื้นที่ให้ค่าเฉลี่ยรวมผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชต่อสุขภาพ สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมผลกระทบการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชต่อสิ่งแวดล้อม จึงเสนอแนะว่า จำเป็นต้องมีการให้ความรู้วิธีทำเกษตรดีที่เหมาะสมในการทำสวนยางพาราให้ผู้ทำสวนยางให้ถี่มากขึ้นอย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง และควรส่งเสริมให้ความรู้ในการใช้สารเคมีให้ถูกต้องทั้งในด้านปริมาณและวิธีการใช้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและต่อสิ่งแวดล้อม