รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การทดสอบระบบการปลูกพืชที่มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชหลักในพื้นที่ลาดชันจังหวัดเพชรบูรณ์ .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.453-463.

บทคัดย่อ

         จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลอนคลื่นมีความลาดชัน เกิดปัญหาการพังทลายของดินสูง ดินเสื่อมมีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ เกิดปัญหาแผ่นแข็งผิวดิน และดินดาน ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดค่อนข้างต่ำ เกษตรกรมีรายได้ต่ำ จึงได้มีการทดสอบระบบการปลูกพืชที่มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชหลักในพื้นที่ลาดชัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ปี พ.ศ. 2551 - 2552 สภาพไร่ฤดูฝน ในแปลงเกษตรกรที่มีความลาดชันไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ทดสอบ 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีที่ 1 ปลูกวิธีแนะนำถั่วเหลืองฝักสดตามด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (2 พืช) และกรรมวิธีที่ 2 วิธีเกษตรกร ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว ดำเนินการทดสอบในไร่เกษตรกร อำเภอหนองไผ่ และอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ผลการวิจัยพบว่าวิธีแนะนำ ปลูกถั่วเหลืองฝักสดตามด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (2 พืช) ถั่วเหลืองฝักสดให้ผลผลิตเฉลี่ย 951 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,008 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตข้าวโพดไม่แตกต่างกัน เมื่อเทียบกับวิธีเกษตรกร (1 พืช) ซึ่งให้ผลผลิตข้าวโพดเฉลี่ย 1,029 กิโลกรัมต่อไร่ จากการวิเคราะห์รายได้และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนการผลิต วิธีแนะนำ ให้รายได้เป็นเงินสดสูงกว่าวิธีเกษตรกร แต่ให้ผลตอบแทนต่อต้นทุนการผลิตน้อยกว่าวิธีเกษตรกร คือ มีค่า 1.85 และ 1.89 ตามลำดับ จากผลการวิจัยสรุปได้ว่าวิธีแนะนำให้ผลผลิตและรายได้เป็นเงินสดสูงกว่าวิธีเกษตรกร โดยมีการปลูกแฝกขวางความลาดชันทำให้ลดการพังทลายของดินได้