รายละเอียดบทคัดย่อ


 . ศึกษาการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนของกรมวิชาการเกษตร (มิถุนายน 2552-มิถุนายน 2553).  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.516-529.

บทคัดย่อ

         การศึกษาการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ภายใต้การรับผิดชอบของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตร ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ คือ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ระนอง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 ถึง มิถุนายน 2553 โดยแบ่งทำการศึกษาเป็น 4 ส่วนคือ 1. การจัดสรรพื้นที่ดำเนินการ 2.ความสามารถในการดำเนินงานด้านการผลิตพืช ตามวัตถุประสงค์ของศูนย์เรียนรู้ฯ 3. ความสามารถด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามนโยบายของหน่วยงาน และ 4. ความพึงพอใจของผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ฯ พบว่า 1. มีการจัดสรรพื้นที่ดำเนินการทั้ง 2 ศูนย์เรียนรู้ฯ มีการจัดแบ่งพื้นที่ได้ใกล้เคียงตามหลักเกณฑ์เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ คือ พื้นที่แหล่งน้ำ 25% พื้นที่นาข้าว 25% พื้นที่พืชผสมผสาน 40% และพื้นที่ที่อยู่อาศัย 10% ของพื้นที่ทั้งหมดของศูนย์เรียนรู้ฯ และทั้ง 2 ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้รวบรวมพันธุ์พืชและใช้เทคโนโลยีการผลิตพืช ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ โดยศูนย์เรียนรู้ฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปลูก ดูแลรักษาพืช 118 สายพันธุ์ และใช้เทคโนโลยีการผลิตพืชของกรมฯ 9 เทคโนโลยี ศูนย์เรียนรู้ฯ จังหวัดระนอง ปลูก ดูแลรักษาพืช 58 สายพันธุ์ และใช้เทคโนโลยีการผลิตพืชของกรมฯ 7 เทคโนโลยีการผลิตพืช และได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ตามนโยบายของกรมฯ โดยศูนย์เรียนรู้ฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ทำการฝึกอบรม จำนวน 3 หลักสูตร ให้กับเกษตรกร 60 ราย ให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป จำนวน 3,168 ราย ศูนย์เรียนรู้ฯ จังหวัดระนอง ฝึกอบรม จำนวน 2 หลักสูตร ให้กับเกษตรกร 25 ราย ให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป จำนวน 2,092 ราย และจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าu3648 เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ฯ ทั้ง 2 จังหวัด มีความพึงพอใจในระดับดีมาก