รายละเอียดบทคัดย่อ


 . เวทีวิจัยสัญจร : กระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จ ในการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.542-549.

บทคัดย่อ

         เวทีวิจัยสัญจร เป็น การจัดประชุมของนักวิจัยและเกษตรกร เพื่อการพัฒนาการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ความคิด ความรู้ และประสบการณ์ในการทำการเกษตร โดยจัดประชุมที่บ้านเกษตรกรหมุนเวียนกันไป เดือนละ 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลาโครงการ กิจกรรมที่ดำเนินการในการจัดเวทีวิจัยประกอบด้วย การรื้อฟื้นประเพณีการนำของฝากจากเพื่อนบ้าน เรื่องเล่าจากเจ้าของบ้าน การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ภูมิปัญญาการทำการเกษตรของเจ้าของบ้านและสมาชิก การสาธิตความรู้วิชาการใหม่ๆการเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการเลี้ยงอาหารเที่ยงด้วยผลผลิตจากไร่นาเจ้าของบ้าน และการฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุนมนุษย์และทุนทางสังคมต่างๆ โดยกระบวนการเน้นการมีส่วนร่วมและการแสดงออกของเกษตรกรกับเกษตรกร เกษตรกรกับนักวิจัย ผลการดำเนินงาน พบว่า มีการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนพันธุ์พืช และถ่ายทอดภูมิปัญญาจากเกษตรกรสู่ เกษตรกร เช่น การปลูกผักกูด การให้ปุ๋ยในระบบน้ำ การปรับปรุงดิน การวางแผนปลูกพืชผสมผสานการปลูกพืชสมุนไพร การปลูกพืชผัก ข้าวโพดหวาน เลี้ยงปลา การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช การใช้น้ำหมักเข้มข้นปรับปรุงดิน การสาธิตการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นต้น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกของการเป็นต้นแบบการปลูกพืชตามแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีการร่วมกันวิเคราะห์ ความเสี่ยง การลดต้นทุน การปลูกและการดูแลรักษา มีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตชุมชนชนบท เช่น ความเป็นเพื่อน พี่น้องหรือเพื่อนเกลอ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เช่น อาหาร พันธุ์พืชที่นำมาปลูก มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น การลงแรงช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้เพื่อนสมาชิก ได้เพิ่มทักษะความสามารถในการเป็นวิทยากร การฝึกการพูดในเวทีเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงให้ความสนใจ และเข้ามาร่วมในเวทีวิจัย