รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การจัดการความรู้ชุมชนเกษตรเพื่อพัฒนาระบบการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก: 2. ผลที่ได้จากการจัดการความรู้ชุมชนเกษตร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.550-561.

บทคัดย่อ

         การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกษตร เอกสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เสนอผลที่ได้จากการจัดการความรู้กับ 3 ชุมชนเกษตรสำคัญใน 3 จังหวัด คือ พิษณุโลกเชียงใหม่ และนครราชสีมา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกที่สำคัญ และมีผลผลิตเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดได้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน 3 ฤดูการผลิต ได้แก่ ก่อนฤดู ล่าฤดู และหลังฤดู ตามลำดับ การจัดการความรู้เลือกใช้โมเดลปลาทู ที่แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การกำหนดเป้าหมาย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างคลังความรู้ ดำเนินการระหว่าง เดือนมีนาคม 2552 ถึง เดือนกรกฎาคม 2553 ได้ผลดังนี้ส่วนแรกมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เชิงปฏิบัติที่เป็นเลิศในการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก ได้ส่งผลให้แต่ละกลุ่มเป็น “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านมะม่วง” ที่มีความพร้อมยิ่งขึ้น ส่วนที่สองการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่การจัดเวทีเพื่อสร้างองค์ความรู้จากภายในนั้น การศึกษายืนยันว่าการจัดการความรู้สามารถนำมาใช้อย่างได้ผลกับชุมชนเกษตร โดยเฉพาะการถอดความรู้ฝังลึกและการระดมความคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักปฏิบัติผู้รู้ “เกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับมะม่วงฉบับชุมชน” ซึ่งเป็นคู่มือเกษตรกรจำนวน 3 ฉบับ นับเป็นคลังความรู้ที่ผลิตขึ้นในเบื้องต้นจากแต่ละกลุ่ม เนื้อหาประกอบด้วยหลักการและการดำเนินงานจำนวน 10 ขั้นตอน ส่วนในเอกสารนี้ได้ระบุให้เห็นถึงองค์ความรู้พื้นฐานสำคัญในระบบการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกสำหรับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีจำนวน 8 ประการ กิจกรรมนี้ทำให้เกิดการไหลเวียนขององค์ความรู้ทั้งภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก นอกจากนั้นยังได้นำไปสร้างคลังความรู้ระบบออนไลน์ที่เปิดกว้างต่อสาธารณชนในส่วนที่สามของโมเดลปลาทูอย่างเป็นระบบต่อไป