รายละเอียดบทคัดย่อ


 . ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จังหวัดอุดรธานี.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.562-569.

บทคัดย่อ

         ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ตำบลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์เรียนรู้ทางด้านการเกษตรที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับเกษตรกร เริ่มดำเนินการในปี 2552 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่และเผยแพร่ผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรให้กับเกษตรกร และประชาชนโดยทั่วไป พื้นที่ดำเนินการ 5.6 ไร่ มีการแบ่งพื้นที่ทำกิจกรรมการเกษตรเป็นส่วนๆ ได้แก่ ส่วนที่ 1 พื้นที่บ่อน้ำ มีพื้นที่ 1.25 ไร่ ทำการปลูกไม้ผลรอบบ่อน้ำและเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน และใช้ประโยชน์จากน้ำในบ่อในการปลูกไม้ผลและพืชหลังนา ส่วนที่ 2 พื้นที่นาข้าว 2.35 ไร่ ทำการปรับพื้นที่ให้มีคันล้อมรอบนาข้าวเพื่อปลูกไม้ผลและพืชผักพื้นบ้าน ขุดบ่อรอบแปลงนาเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กบ และปลาในนาข้าว ทำการปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ในฤดูนาปี และปลูกพืชหลังนา เช่น พืชผัก พืชไร่ รวมทั้งปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงดินก่อนทำนาปี ส่วนที่ 3 พื้นที่ปลูกไม้ผลผสมผสานและที่อยู่อาศัย มีพื้นที่ 1.75 ไร่ ทำการปลูกไม้ผลหลัก ได้แก่มะม่วง ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ ละมุด ในระยะ 8x8 เมตร และปลูก ไม้ผลรอง ได้แก่ ฝรั่ง กล้วย แซมระหว่างต้นไม้ผลหลัก และปลูกพืชล้มลุกแซมระหว่างแถวไม้ผล เช่น ถั่วฝักยาว อ้อยคั้นน้ำ ข้าวโพด และพืชอาหารสัตว์ มีการเพาะเห็ดฟางจากกาก มันสำปะหลัง เพื่อบริโภคและปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อให้มีอาหารตลอดปี บริเวณรอบที่พักอาศัย ผลการดำเนินการ การเลี้ยงปลาในบ่อยังไม่ได้จับจำหน่ายและไม้ผลรอบบ่อยังไม่ได้ให้ผลผลิต ส่วนระบบการปลูกพืชในนาข้าวปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ได้ผลผลิต 756 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้ 9,072 บาท ปลาและกบในนาข้าวได้ผลผลิต 550 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้ 11,000 บาท ขณะที่การปลูกพืชหลังนายังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีปัญหาการระบายน้ำ และไม้ผลรอบแปลงนายังไม่ได้ผลผลิต ทำให้ระบบการเกษตรในนาข้าว มีรายได้ รวม 20,072 บาท ขณะที่มีต้นทุนผลิตรวม 19,350 บาท พื้นที่ปลูกไม้ผลผสมผสาน ได้ผลผลิตจากพืชแซมต่างๆ เช่น ถั่วฝักยาว ฟักทอง ฟักเขียว และหญ้ากินนี่สีม่วง รวมเป็นรายได้ 5,000 บาท และรายได้จากไม้ผลรองเช่น ฝรั่ง 100 บาท การเพาะเห็ดฟาง 2,000 บาท ส่วนอ้อยคั้นน้ำและไม้ผลหลักยังไม่ให้ผลผลิต ทำให้มีรายได้รวม 7,100 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเท่ากับ 17,010 บาท ทำให้มีรายได้ต่ำกว่าต้นทุนเท่ากับ 9,910 บาท เนื่องจากกิจกรรมปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์บางอย่างยังไม่ได้จำหน่าย นอกจากกิจกรรมสาธิตระบบเกษตรแล้ว ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรและประชาชนที่สนใจ โดยมีการฝึกอบรมเกษตรกรจำนวน 100 คน และมีผู้สนใจเข้าศึกษาดูงาน 500 คน