รายละเอียดบทคัดย่อ


 . ผลกระทบของสภาพแวดล้อมและไนโตรเจนต่อการเจริญเติบโต ผลผลิต และปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดของข้าวเหนียวก่ำพื้นเมือง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.45-55.

บทคัดย่อ

         การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา การเจริญ ผลผลิตและปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดของข้าวเหนียวก่ำ ภายใต้อิทธิพลของวันปลูก และอัตราปุ๋ยไนโตรเจน โดยปลูกข้าวเหนียวก่ำ จำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ MHS 1 พันธุ์สะเมิง 3 พันธุ์ PGMHS 6 พันธุ์ PGMHS 15 และพันธุ์ PGMHS 17 ใน 3 วันปลูกคือ 1 กรกฎาคม, 1 สิงหาคม และ1 กันยายนพ.ศ.2552 ทำการใส่ปุ๋ยยูเรีย 3 อัตรา คือ 8, 16 และ 24 กก.ไนโตรเจน/ไร่ ทำการทดลองที่แปลงสถานีวิจัยเกษตรเขตชลประทาน ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2552 จากผลการศึกษาพบว่า ระยะพัฒนาการของข้าวที่ปลูกในแต่ละวันปลูก มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้าวที่ปลูกในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน ค่าอุณหภูมิสะสมจากวันปลูกถึงวันที่สะสมน้ำหนักแห้งสูงสุดมีแนวโน้มลดลง โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1,986 1,623 และ 1,511 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ซึ่งเทียบเท่ากับ 104, 86 และ 82 วัน ตามลำดับ ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างระหว่างพันธุ์ในเรื่องของค่าอุณหภูมิสะสมที่ใช้ในการสะสมน้ำหนักแห้งจากวันปลูกถึงน้ำหนักแห้งสูงสุด โดยพบว่าข้าวพันธุ์ PGMHS 17 และสะเมิง 3 มีค่าอุณหภูมิสะสมที่ใช้ในการสะสมน้ำหนักแห้งจากวันปลูกถึงน้ำหนักแห้งสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 1,739 องศาเซลเซียส (92 วัน) ส่วนพันธุ์ PGMHS 6 มีค่าอุณหภูมิสะสมที่ใช้ในการสะสมน้ำหนักแห้งจากวันปลูกถึงน้ำหนักแห้งสูงสุดเฉลี่ยน้อยสุดเท่ากับ 1,667 องศาเซลเซียส (89 วัน) สำหรับน้ำหนักแห้งสูงสุดของข้าว พบว่า มีแนวโน้มลดลงตามวันปลูก ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์ พบว่าข้าวพันธุ์ MHS 1 ที่ปลูกในวันที่ 1 กรกฎาคม มีน้ำหนักแห้งสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 1,033 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากกว่าพันธุ์อื่นๆ ทั้งนี้ข้าวทุกพันธุ์ที่ปลูกในเดือนกันยายนมีน้ำหนักแห้งสะสมสูงสุดในระดับต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 347 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสอดคล้องกับการให้ผลผลิตที่พบว่ามีแนวโน้มลดลงตามวันปลูกเช่นกัน โดยข้าวที่ปลูกในเดือนกันยายนจะให้ผลผลิตต่ำสุด ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 43 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ได้แก่ พันธุ์สะเมิง 3 ที่ปลูกในเดือนกรกฎาคม โดยมีผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 371 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับอิทธิพลของปุ๋ยไนโตรเจน พบว่าข้าวทุกพันธุ์ของทั้งสามวันปลูกที่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนในอัตรา 16 และ 24 กิโลกรัมไนโตรเจนต่อไร่จะให้ผลผลิตสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 232 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากกว่าข้าวที่ได้รับปุ๋ย 8 กิโลกรัม ไนโตรเจนต่อไร่ ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 179 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับปริมาณฟีนอลิคทั้งหมดของข้าวเหนียวก่ำที่ปลูกในแต่เดือนสิงหาคมที่ได้รับอัตราปุ๋ยไนโตรเจน 24 กิโลกรัมไนโตรเจนต่อไร่ มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดในเมล็ดสูงสุดแต่ละวันปลูกมีความแปรปรวนต่อการตอบสนองต่ออัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่แตกต่างกัน ทั้งนี้โดยพบว่าพันธุ์สะเมิง 3 ที่ปลูกในเท่ากับ53.46 mg/mL ของ gallic acid นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่าผลผลิตข้าวมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับค่าดัชนีการเก็บเกี่ยว จำนวนต้นต่อกอ จำนวนรวงต่อกอ และจำนวนเมล็ดดีต่อรวง