รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การทดสอบรูปแบบระบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ยางพาราเป็นพืชหลักจังหวัดอุบลราชธานี .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 :ระบบเกษตรเพื่อความสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Agricultural Systems - Save the World to Save Life) . ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา.  น.167-181.

บทคัดย่อ

         ดำเนินการทดสอบรูปแบบระบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นพืชหลักจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ได้รูปแบบระบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นพืชหลักจังหวัดอุบลราชธานี ที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างน้อย 1 รูปแบบ ดังนั้นในปี 2550 จึงได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ ได้บ้านหนองเซือมเทิง ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมงานทดสอบการพัฒนารูปแบบฯ ดังกล่าว จำนวน 5 ราย จากการวิเคราะห์พื้นที่พบว่าเกษตรกรปลูกพืชหลัก 2 ชนิด คือ 1. ปลูกยางพารา 2. ปลูกข้าว และจากการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาร่วมกับเกษตรกรโดยการจัดเวทีเสวนา พบว่า ในเชิงระบบเกษตรกรขาดการเกื้อกูลกันของทรัพยากรภายในระบบเกษตรซึ่งยังไม่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง จึงวางแผนทดสอบเทคโนโลยีร่วมกับเกษตรกร คือ 1. เพิ่มกิจกรรมทางการเกษตรที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเข้าไปในระบบเกษตรของเกษตรกรในช่วงเวลาที่เกษตรกรพักหน้ายางและเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ได้แก่การปลูกพืชหลังนา คือ ปลูกถั่วลิสงหลังนา ได้แก่ พันธุ์ไทนาน 9 และพันธุ์ขอนแก่น 6 2.เพิ่มกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อลักษณะทางกายภาพ และชีวภาพของระบบเกษตร และก่อให้เกิดการเกื้อกูลกันของทรัพยากรในระบบ ได้แก่การปลูกถั่วคลุมดินในสวนยางพาราเพื่อบำรุงดิน ได้แก่ ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า และถั่วขอ แล้วนำเมล็ดถั่วบำรุงดินที่ได้ไปปลูกในนาข้าวเพื่อบำรุงดิน ซึ่งนับเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรภายในระบบ จากการทดลองพบว่า 1.เกษตรกรปลูกถั่วลิสงหลังนาให้ผลผลิตน้ำหนักสด เฉลี่ย 630 กก./ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12,600 บาท 2. เกษตรกรปลูกพืชคลุมดินในสวนยาง ได้แก่ ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า และถั่วขอ ให้น้ำหนักสดมวลชีวภาพ 440 – 1,040 กก./ไร่ 3. เกษตรกรปลูกพืชคลุมดินในนาข้าว ได้แก่ ถั่วพร้า และถั่วขอ ให้น้ำหนักสดมวลชีวภาพ 1,480 – 1,770 กก./ไร่ ให้ผลผลิตเมล็ด 20 – 27.7 กก./ไร่ จากการทดลองทำให้ได้รูปแบบระบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราและข้าวเป็นพืชหลัก ซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นได้โดยการเพิ่มกิจกรรมทางการเกษตรที่มีการเกื้อกูลกันของทรัพยากรและทุนในระบบ โดยการปลูกพืชหลังนา เช่นถั่วลิสง ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกรและสามารถเพิ่มการเกื้อกูลของทรัพยากรในระบบได้โดยการปลูกพืชตระกูลถั่วบางชนิดเป็นพืชคลุมดินในสวนยางพารา และนำเมล็ดส่วนหนึ่งที่ได้ไปปลูกเป็นพืชบำรุงดินในนาข้าวหลังนา ซึ่งนับเป็นการสร้างความยั่งยืนขึ้นในระบบการเกษตรดังกล่าว และน่าที่จะขยายผลการทดลองนี้ไปยังพื้นที่อื่นที่มีระบบภูมินิเวศน์เกษตร และระบบการผลิตที่คล้ายคลึงกันหรือใกล้เคียงกันได้