รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การจัดการแรงงานจ้างกรีดยางพาราของครัวเรือนเกษตรกรชาวสวนยาง: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 :ระบบเกษตรไทยใต้ร่มพระบารมี เพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน . ระหว่างวันที่ 8-10 สิงกาคม 2554 ณ โรงแรมตักสิลา มหาสารคาม.  น.143-149.

บทคัดย่อ

         ภาวะราคายางพาราที่สูงขึ้นในปัจจุบันส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและการผลิตของครัวเรือนเกษตรกรชาวสวนยางทั้งในทางบวกและทางลบ ซึ่งผลกระทบทางบวกทำให้ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผลกระทบทางลบทำให้ครัวเรือนเกษตรกรประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานกรีดยางพารา ทั้งปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพแรงงาน จากการศึกษาพบว่า แนวโน้มครัวเรือนเกษตรกรจะมีการจ้างแรงงานกรีดยางพารามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดรูปแบบการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของสวนยางพารากับแรงงานจ้างกรีดยางพาราเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่า มี 3 รูปแบบได้แก่ การแบ่งผลประโยชน์แบบสัดส่วน แบบค่าจ้างรายวัน และแบบค่าจ้างตามกิจกรรม ตามลำดับ โดยการแบ่งผลประโยชน์แบบสัดส่วนระหว่างเจ้าของสวนยางพารา กับแรงงานจ้างกรีดพบในพื้นที่ศึกษา 4 สัดส่วนคือ 60:40, 55:45, 50:50 และ 70:30 ซึ่งการจะตัดสินใจเลือกสัดส่วนใดขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่ สถานการณ์แรงงานในพื้นที่ และอายุยางพารา และสำหรับการดูแลและการบำรุงรักษาสวนยางพาราโดยส่วนใหญ่เจ้าของสวนยางพาราจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง สำหรับแหล่งที่มาของแรงงานจ้างกรีดพบว่ามาจาก 2 แหล่งใหญ่คือ แรงงานจ้างในชุมชน ซึ่งเป็นแรงงานที่เป็นเครือญาติและไม่เป็นเครือญาติที่อยู่ในชุมชน และแรงงานภายนอกชุมชน ซึ่งพบว่าเป็นแรงงานจากภาคอิสานและแรงงานข้ามชาติได้แก่ แรงงานพม่า มอญ ลาว และกัมพูชา ซึ่งกิจกรรมในการปฏิบัติงานของแรงงานจ้างกรีดยางเริ่มตั้งแต่ การลับมีดกรีดยาง การเตรียมอุปกรณ์การกรีด การดำเนินการกรีดการเก็บน้ำยาง การเตรียมผลผลิต (เช่น น้ำยางสด หรือทำยางแผ่น) และการนำผลผลิตไปขาย ณ จุดขายยางพารา ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ทั้งหมดของแรงงานจ้างกรีดยางพาราเฉลี่ย 6-8 ชั่วโมง สำหรับผลจากภาวะราคายางที่สูงขึ้นต่อแรงงานจ้างกรีดยางพาราพบว่ามีการแข่งขันจ้างแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้น อัตราค่าจ้างเปลี่ยนแปลง การต่อรองค่าจ้างที่มากขึ้นและกิจกรรมการปฎิบัติงานของแรงงานจ้างกรีดเปลี่ยนแปลง