รายละเอียดบทคัดย่อ


 . พฤติกรรมการปฏิบัติงานของแรงงานครัวเรือนในระบบการทำฟาร์มสวนยางพาราขนาดเล็กในจังหวัดสงขลา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 :ระบบเกษตรไทยใต้ร่มพระบารมี เพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน . ระหว่างวันที่ 8-10 สิงกาคม 2554 ณ โรงแรมตักสิลา มหาสารคาม.  น.150-159.

บทคัดย่อ

         ในปัจจุบันภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ได้แก่ ภาวะยางมีราคาสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นต้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตยางพารา และการปรับตัวของเกษตรกรในการผลิตยางพารา เพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ยังส่งผลทางลบต่อการจัดการสวนยางพารา โดยทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราขนาดเล็กต้องเผชิญปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีต้นทุนในการผลิตสูง งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาพฤติกรรมการปฏิบัติงานของแรงงานครัวเรือน ผลจากการศึกษาพบว่า แรงงานในครัวเรือนในระบบการทำฟาร์มสวนยางพาราขนาดเล็กในจังหวัดสงขลา สามารถจำแนกได้ 4 ประเภท โดยพิจารณาตามลักษณะความสัมพันธ์ในครอบครัว คือ แรงงานคู่สามีภรรยา แรงงานบุตรหลาน แรงงานญาติพี่น้อง และแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งลักษณะการทำงานและกิจกรรมการทำงานของแรงงานแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน สำหรับพฤติกรรมการปฏิบัติงานของแรงงานครัวเรือน เมื่อพิจารณาด้านความรู้พบว่า แรงงานครัวเรือนทุกประเภทได้รับความรู้จากกระบวนการการเรียนรู้มาจากรุ่นพ่อแม่ ในด้านทัศนคติพบว่า แรงงานทุกประเภทมีทัศนคติที่ดีต่อการทำฟาร์มสวนยางพาราเพราะถือว่าเป็นงานที่มีรายได้สูง ด้านปฏิบัติงานพบว่า ทักษะในการปฏิบัติงานของแรงงานครัวเรือนแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ทั้งทักษะในการจัดการสวน และการกรีดยางพารา