รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การพัฒนาโปรแกรม “น้ำทา”เพื่อสนับสนุนงานวิเคราะห์พื้นที่ในลุ่มน้ำย่อย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 :ระบบเกษตรไทยใต้ร่มพระบารมี เพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน . ระหว่างวันที่ 8-10 สิงกาคม 2554 ณ โรงแรมตักสิลา มหาสารคาม.  น.160-167.

บทคัดย่อ

         การประเมินสถานภาพการใช้ทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และผลกระทบของการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำแบบผสมผสาน จำเป็นต้องการข้อมูลเชิงพื้นที่หลากหลายในรูปแผนที่พื้นฐาน ข้อมูลภาพระยะไกล ตลอดจนแผนที่เฉพาะเรื่องที่ได้จากการวิเคราะห์สถานภาพของทรัพยากรดังกล่าว การนำข้อมูลเชิงพื้นที่เหล่านั้นมาแสดงร่วมกันจะทำให้เห็นภาพรวมของทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำและเป็นสื่อในการระดมความคิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพและปัญหา ตลอดจนทางเลือกในการแก้ปัญหาต่อไป การบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่สามารถทำได้โดยการพัฒนาโปรแกรมที่อาศัยขีดความสามารถของระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ในการวิเคราะห์พื้นที่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการใช้ระบบ GIS โปรแกรม น้ำทา เป็นระบบที่ได้รับการพัฒนาให้ทำงานร่วมกับโปรแกรมMapWindows ซึ่งเป็นระบบ GIS ประเภท Open source ที่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ จึงเหมาะกับการพัฒนาระบบบูรณาการและเรียกใช้ข้อมูลสำหรับพื้นที่ขนาดย่อมเช่นลุ่มน้ำย่อย หรือตำบล โปรแกรมน้ำทา ได้รับการพัฒนาให้มีส่วนโต้ตอบกับผู้ใช้เป็นภาษาไทยสามารถแสดงข้อมูลที่จัดเก็บไว้สืบค้นข้อมูลอรรถาธิบายและข้อมูลเชิงพื้นที่พร้อมทั้งสามารถพิมพ์แผนที่ได้ตามต้องการข้อดีโปรแกรมน้ำทาคือผู้ใช้ไม่ต้องใช้เวลาเรียนรู้มากนักเนื่องจากองค์ประกอบของระบบไม่ซับซ้อนและได้จัดทำเมนูการเรียกใช้จำนวนจำกัดเฉพาะเท่าที่ผู้ใช้ต้องการเท่านั้น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการใช้ประโยชน์ในการบูรณาการข้อมูลทรัพยากรทางการเกษตรและทางนิเวศวิทยาในงานจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำระดับต่างๆ ภายในโปรแกรม น้ำทา มีข้อมูลเชิงพื้นที่พื้นฐานครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ทา ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อยภายในลุ่มน้ำแม่ กวง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำปิง โปรแกรมน้ำทาสามารถเรียกแสดงข้อมูลได้ 9 กลุ่มชั้นข้อมูล ประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลภาพระยะไกล ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้พื้นที่เสี่ยงภัย เศรษฐกิจสังคม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม ในกลุ่มข้อมูลประกอบไปด้วย 35 ชั้นข้อมูลย่อย ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวมรวมมาจากหน่วยงานราชการ ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภาคสนาม การเรียกแสดงชั้นข้อมูลร่วมกันสามารถทำได้สะดวกจากการออกแบบโครงสร้างของหน้าต่างแสดงผล การสืบค้นข้อมูลสามารถทำได้ทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลอรรถาธิบาย จึงสามารถใช้งานเพื่อประกอบการตัดสินใจเบื้องต้นได้ จากการฝึกอบรมการใช้งานและแนะนำการใช้งานร่วมกับข้อมูลที่มีอยู่ของแต่ละองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ภายในขอบเขตลุ่มน้ำแม่ทาพบว่าเจ้าหน้าที่ อบต. สามารถใช้โปรแกรม น้ำทา ได้ในเวลาอันสั้น และโปรแกรมสามารถตอบสนองต่อผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็วรวมทั้งสามารถนำเข้าข้อมูลเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ได้ทันที และบันทึกเก็บไว้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในเวลาต่อมา