รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตสับปะรดในพื้นที่ภาคตะวันออก.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 :ระบบเกษตรไทยใต้ร่มพระบารมี เพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน . ระหว่างวันที่ 8-10 สิงกาคม 2554 ณ โรงแรมตักสิลา มหาสารคาม.  น.324-331.

บทคัดย่อ

         การพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตสับปะรดในพื้นที่ภาคตะวันออกมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วม และได้เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตสับปะรดคุณภาพที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เศรษฐกิจ และสังคม ดำเนินการทดลองในพื้นที่เกษตรกร 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และตราด ระหว่างเดือนตุลาคม 2548 ถึงเดือนมีนาคม 2553 เกษตรกรร่วมดำเนินการ 10 รายพื้นที่ 20 ไร่ โดยใช้เทคโนโลยีภายใต้ระบบการจัดการคุณภาพสับปะรด (วีธีแนะนำ) เปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติของเกษตรกร ผลการดำเนินงานพบว่า เกษตรกรในจังหวัดชลบุรีที่ใช้วิธีแนะนำได้ผลผลิตสับปะรดเฉลี่ย7,979.75 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทน 24,237.45 บาทต่อไร่ มีอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุนเท่ากับ 1.96ขณะที่การใช้วิธีเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 8,045.50 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทน 21,370.40 บาทต่อไร่ มีอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุนเท่ากับ 1.75 ส่วนเกษตรกรในจังหวัดระยองที่ใช้วิธีแนะนำได้ผลผลิตเฉลี่ย5,319 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทน 16,263.80 บาทต่อไร่ มีอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุนเท่ากับ 1.97ส่วนการใช้วิธีเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 4,697.92 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทน 12,398.60 บาทต่อไร่ มีอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุนเท่ากับ 1.74 จะเห็นว่าการใช้วิธีแนะนำให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าและมีอัตราส่วนรายได้ต่อการลงทุนมากกว่าการใช้วิธีเกษตรกร ดังนั้นเทคโนโลยีภายใต้ระบบการจัดการคุณภาพสับปะรดจึงเป็นเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง เนื่องจากทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีรายจ่ายน้อยลง ส่วนจังหวัดตราด พบว่าการใช้วิธีแนะนำได้ผลผลิตเฉลี่ย4,513.05 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทน 10,207.75 บาทต่อไร่ มีอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุนเท่ากับ1.82 ขณะที่การใช้วิธีเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 4,253 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทน 10,101.25 บาทต่อไร่ มีอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุนเท่ากับ 1.90 จะเห็นว่าการใช้วิธีแนะนำทำให้ได้ปริมาณผลผลิตและผลตอบแทนที่สูงกว่าวิธีเกษตรกรแต่มีต้นทุนผันแปรสูงกว่าวิธีเกษตรกร ทำให้มีอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุนต่ำกว่า จึงน่าจะมีการนำเอาเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดคุณภาพไปปรับใช้ร่วมกับวิธีการของเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตและผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม