รายละเอียดบทคัดย่อ


 . ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหอมหัวใหญ่ในระบบข้าว-หอมหัวใหญ่พื้นที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 :ระบบเกษตรไทยใต้ร่มพระบารมี เพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน . ระหว่างวันที่ 8-10 สิงกาคม 2554 ณ โรงแรมตักสิลา มหาสารคาม.  น.446-459.

บทคัดย่อ

         การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหอมหัวใหญ่ในระบบข้าว–หอมหัวใหญ่พื้นที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ดำเนินการในปี 2550-2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการใช้ปุ๋ยเคมีตามผลการวิเคราะห์ดินสำหรับการปลูกหอมหัวใหญ่ในพื้นที่การผลิตหอมหัวใหญ่เพื่อการส่งออก และเพื่อทราบโอกาสและข้อจำกัดของการปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตหอมหัวใหญ่ในพื้นที่เกษตรกรการทดสอบดำเนินการในแปลงเกษตรกรที่ปลูกหอมหัวใหญ่หลังเก็บเกี่ยวข้าวใน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ จำนวน 10 ราย ๆ ละ 1ไร่ เกษตรกรแต่ละรายมี 2 กรรมวิธี กรรมวิธีละ 2ซ้ำ กรรมวิธีที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมีตามผลการวิเคราะห์ดิน กรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีวิธีของเกษตรกร พันธุ์หอมหัวใหญ่ที่ทดสอบคือ super rex ผลการวิเคราะห์ดินพบว่า สภาพพื้นที่โดยรวมมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกหอมหัวใหญ่การวิเคราะห์ตัวอย่างดินปี 2550 และ 2551 พบว่าดินมีสภาพเป็นกลาง (pH 6) ปริมาณอินทรียวัตถุมีอยู่ในระดับปานกลาง (1.7-1.9 %) มีปริมาณฟอสฟอรัสอยู่ในดินปริมาณสูงเฉลี่ย 190 และ 318 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมโพแทสเซียมมีอยู่ในระดับปานกลางเฉลี่ย 52 และ 95 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แคลเซียมพบว่ามีปริมาณเฉลี่ย 1,187-1,361 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และแมกนีเซียมพบมีปริมาณเฉลี่ย 79-89 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดังนั้นควรปรับลดการใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัส และปรับปรุงดินโดยใช้โดโลไมท์แทนปูนขาวเพื่อเพิ่มปริมาณแมกนีเซียม สำหรับผลผลิตพบว่ากรรมวิธีการใส่ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ดินได้ผลผลิตไม่แตกต่างไปจากกรรมวิธีการใส่ปุ๋ยของเกษตรกรทั้ง 2 ปี คือ ปี2551 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 5,606 และ 5,899 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ปี 2552 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 5,362 และ 5,465กิโลกรัมต่อไร่ตามลำดับ นอกจากนี้การใส่ปุ๋ยเคมีทั้ง 2 กรรมวิธียังได้จำนวนขนาดของหัวที่ส่งออก(เบอร์ 0 และเบอร์ 1) ที่ใกล้เคียงกัน คือ ปี 2551 กรรมวิธีการใส่ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ดินและกรรมวิธีการใส่ปุ๋ยของเกษตรกรได้จำนวนหัวขนาดส่งออก ร้อยละ 87 และ 88 ตามลำดับ ปี 2552 ได้จำนวนหัวขนาดส่งออก ร้อยละ 61 และ 66ตามลำดับ การใส่ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ดินลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกหอมหัวใหญ่ปี 2551 เฉลี่ย 7-12-7กิโลกรัม(N-P2O 5–K2O)ต่อไร่ ปี 2552 เฉลี่ย 0-7-4 กิโลกรัม(N-P2O 5–K2O)ต่อไร่ โดยผลผลิตและคุณภาพขนาดของหัวไม่ลดลง มีผลให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ 941 บาท และ 148 บาท ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามผลตอบแทนที่ได้จะผันแปรไปตามราคาซื้อในแต่ละปีและช่วงเวลาการซื้อ-ขายหอมหัวใหญ่ สำหรับอัตราส่วนของรายได้ต่อค่าใช้จ่ายการลงทุนพบว่ามีค่ามากกว่า 1 โดยกรรมวิธีที่แนะนำและกรรมวิธีเกษตรกรมีค่าใกล้เคียงกันคือ ปี 2551 มีค่า 1.5 และ 1.6 ตามลำดับ และ ปี 2552 มีค่า 2.4 เท่ากัน การปรับการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมสำหรับการปลูกหอมหัวใหญ่มีโอกาสสูง เนื่องจากปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้น แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องมีการวิเคราะห์ดินและเกษตรกรต้องมีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องของดินและปุ๋ย