รายละเอียดบทคัดย่อ


 . วิจัยและพัฒนาการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพเพื่อการส่งออก.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 :ระบบเกษตรไทยใต้ร่มพระบารมี เพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน . ระหว่างวันที่ 8-10 สิงกาคม 2554 ณ โรงแรมตักสิลา มหาสารคาม.  น.475-487.

บทคัดย่อ

         การวิจัยและพัฒนาการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพเพื่อการส่งออกเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไยนอกฤดูที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยศึกษาการผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกร ทดสอบและปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพในพื้นที่เกษตรกร และขยายผลงานวิจัยสู่พื้นที่เป้าหมาย ทำการประเมินผลการใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยของเกษตรกร โดยพิจารณาจากความสอดคล้องของการปฏิบัติงานของเกษตรกรกับเทคโนโลยีการผลิตลำไยตามคู่มือเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับลำไย (GAP)ให้คะแนนและระดับการนำไปใช้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แบ่งระดับการนำไปใช้เป็น 3 ระดับคือ การนำไปใช้ระดับดีปานกลาง และต่ำ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 69 นำเทคโนโลยีการผลิตไปใช้ในระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 2นำเทคโนโลยีการผลิตไปใช้ในระดับดี เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตลำไยตามคู่มือเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับลำไย(GAP) เป็นเทคโนโลยีการผลิตพื้นฐาน มิใช่เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูโดยเฉพาะ จึงได้ทำการค้นคว้าและรวบรวมเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ โดยเน้นเทคโนโลยีการผลิตของกรมวิชาการเกษตร ทำการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพในพื้นที่เกษตรกร และปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของเกษตรกรผลการวิจัยพบว่าเทคโนโลยีแนะนำสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออก (เกรด 1 และ 2) จากร้อยละ 64เป็นร้อยละ 76 โดยเกษตรกรยอมรับว่าการเตรียมความพร้อมของต้น และการตัดแต่งช่อผล มีผลต่อคุณภาพของผลผลิต ส่วนเทคโนโลยีที่เกษตรกรต้องการให้ปรับเปลี่ยน ได้แก่ ปริมาณการใช้สารคลอเรต การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูลำไย และการใช้ปุ๋ยเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว จึงดำเนินการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตร่วมกับเกษตรกรที่ร่วมโครงการ โดยใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามความจำเป็น และระมัดระวังการใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว ส่วนการให้ปุ๋ยได้เพิ่มการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-5-20 ก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน จากการทดสอบเทคโนโลยีปรับใช้นี้ในพื้นที่พบว่าวิธีปรับใช้มีปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออกร้อยละ 76 ในขณะที่เกษตรกรได้ทำการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตของตนในด้านการเตรียมความพร้อมของต้น และการตัดแต่งช่อผล ทำให้วิธีเกษตรกรมีปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออกใกล้เคียงกับวิธีปรับใช้คือร้อยละ 72 แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรมีการปรับใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับสภาพและเงื่อนไขของตน ส่งผลให้เกิดการเพิ่มศักยภาพการผลิตลำไยคุณภาพของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อสิ้นสุดการทดลองคณะผู้วิจัยได้รายงานผลการดำเนินงานวิจัยในพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ ตำบลคลองใหญ่ และตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน และตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ตลอดจนได้ทำการเผยแพร่ในอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น ผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ การอบรม การประชุม และนิทรรศการ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย และเป็นเทคโนโลยีทางเลือกให้กับเกษตรกรในพื้นที่