รายละเอียดบทคัดย่อ


 . การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบการผลิตพริกของเกษตรกรในจังหวัดน่าน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 :ระบบเกษตรไทยใต้ร่มพระบารมี เพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน . ระหว่างวันที่ 8-10 สิงกาคม 2554 ณ โรงแรมตักสิลา มหาสารคาม.  น.526-538.

บทคัดย่อ

         ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน ได้ทำการทดลองร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกพริก อ.ท่าวังผาและอ.ปัว จังหวัดน่าน จำนวน 20 ราย โดยการใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรเพื่อพัฒนาระบบการผลิตพริก โดยได้เสวนาร่วมกันพบว่าปัญหาหลักคือ โรครากเน่าและโคนเน่าของพริก พันธุ์พื้นเมืองที่ใช้ให้ผลผลิตต่ำขณะที่พันธุ์การค้ามีราคาเมล็ดพันธุ์แพงและสารพิษตกค้างในผลผลิต โดยวางแผนการทดลองแบบRandomized Completed Block Design 3 กรรมวิธี 2 ซ้ำ กรรมวิธีที่ 1 ใช้เทคโนโลยีการผลิตพริกของกรมวิชาการเกษตร (การคลุมแปลง การใช้ปูนขาว การเตรียมต้นกล้า การตัดแต่งกิ่ง และอื่นๆ) กรรมวิธีที่ 2เทคโนโลยีประยุกต์ระหว่างกรรมวิธีที่ 1 และกรรมวิธีที่ 3 ส่วนกรรมวิธีที่ 3 คือการผลิตพริกตามแบบของเกษตรกร พบว่า กรรมวิธีที่ 1 ให้ผลผลิตสูงสุด 4,873 กก./ไร่ ซึ่งไม่แตกต่างจาก กรรมวิธีที่ 2 แต่สูงกว่ากรรมวิธีที่ 3 ซึ่งให้ผลผลิต 4,603 กก./ไร่และ 4,045 กก./ไร่ ตามลำดับ ส่วนต้นทุนการผลิตพบว่า กรรมวิธีที่ 1มีต้นทุนการผลิตน้อยที่สุด 31,345 บาท ขณะที่กรรมวิธีที่ 3 ต้นทุนการผลิตสูงที่สุด 35,216 บาทต่อไร่และกรรมวิธีที่ 2 31,715 บาทต่อไร่เมื่อพิจารณาถึงรายได้ พบว่า กรรมวิธีที่ 1 มีรายได้ 69,650 บาทต่อไร่กรรมวิธีที่ 2 รายได้ 65,732 บาทต่อไร่ และกรรมวิธีที่ 3 มีรายได้ 59,957 บาทต่อไร่ นอกจากนี้พบว่าอัตราส่วนผลการตอบแทนต่อการลงทุนเฉลี่ยของเกษตรกรทั้ง 20 ราย กรรมวิธีที่ 1 มีค่าสูงสุด 2.13 กรรมวิธีที่2 และ 3 มีค่า 2.01 และ 1.67 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าการเพิ่มเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ แต่ไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตเนื่องจากสามารถลดค่าแรงงานในการกำจัดวัชพืช และค่าใช้จ่ายในการให้น้ำโดยที่กรรมวิธีที่ 1 มีค่าใช้จ่ายในการให้น้ำเฉลี่ย 1,153 บาทต่อไร่ กรรมวิธีที่ 2และกรรมวิธีที่ 3 มีค่าใช้จ่ายในการให้น้ำเฉลี่ย 1,802 และ 2,306 บาทต่อไร่ ตามลำดับ