เรื่อง : มาตรการช่วยเหลือการตลาดลำไยของรัฐบาล ปัจจุบัน และอนาคต ครั้งที่ 6
 
ผู้รับบริการ : เกษตรกรผู้ปลูกลำไย นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง จำนวน 60 คน
วันและเวลา : วันอังคารที่ 19 เมษายน 2548 เวลา 9.00 - 15.00 น.
สถานที่จัด : ห้องประชุม นคร ณ ลำปาง อาคารศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
ที่มาและความสำคัญ :

การผลิตลำไยในเขตภาคเหนือตอนบนซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกสำคัญ ประสบกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้ชาวสวนลำไยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยได้รับความเดือดร้อน ท้อถอยในอาชีพ เนื่องจากขาดทุนและมีภาระหนี้สินพอกพูน จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นหลายกลุ่ม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาช่วยเหลือ ฝ่ายรัฐบาลได้พยายามตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าวในหลายแนวทางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 ปีการผลิตหลังสุด 2545-2547 ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือ พร้อมระบุเจ้าภาพหรือกระทรวงผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน แต่ผลงานถือว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่เกษตรกรได้เรียกร้องไว้ ประกอบกับปลายปี 2546 ที่ประเทศไทยเริ่มมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (free trade area: FTA) กับจีน ประเทศซึ่งเป็นเป้าหมายหลักการส่งออกสินค้าลำไย ทำให้ปัญหาเพิ่มความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น คณะผู้วิจัยโครงการ "องค์ความรู้ และยุทธศาสตร์ระบบการผลิตไม้ผล" ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร (ศวพก.) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดประชุมอย่างต่อเนื่องเดือนละครั้ง มุ่งหวังให้ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ ทำหน้าที่เสมือนเวทีชาวบ้าน และให้เกษตรกรชาวสวนลำไย นักวิชาการ และเจ้าหน้ารัฐในระดับปฏิบัติการ ได้ร่วมกันทบทวน วิเคราะห์สถานการณ์ และระดมความคิดจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาลำไยให้กับภาครัฐ รวมทั้งเสนอทางออกทางเลือกสำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตลำไย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

 
ผลสรุป : (197 kb)
 
การแลกเปลี่ยนในมาตรการลำไยซึ่งได้ดำเนินการจัดมาเป็นครั้งที่ 6 โดยมีประเด็นแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติงานด้านการตลาดขององค์กรเครือข่ายผู้ปลูกลำไยภาคเหนือตอนบน การผลักดันลำไยสดในปี 2548 การกระจายของลำไยแห้ง และบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุน ซึ่งโดยทั่วไปพบว่านโยบายของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน แต่เป็นการแสวงหาทางเลือก
สรุปโดยภาพรวมในกรณีการเตรียมความพร้อมสำหรับลำไยอบแห้ง สหกรณ์ควรมีการสำรวจความพร้อมในการทำงานร่วมกับสถาบันเกษตรกรล่วงหน้าเพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้สหกรณ์หรือกลุ่มต่างๆ ต้องทำความเข้าใจกับสมาชิก หรือสหกรณ์ ในแต่ละมาตรการด้วย ในการกำหนดระยะเวลาการจัดการประชุม และการช่วยเหลือจากภาครัฐผ่าน ธ.ก.ส. และการกำหนดราคาลำไยสดร่วงเกรด AA A และ B ที่กิโลกรัมละ 16 13 และ 7 บาท ตามลำดับนั้น ไม่ได้สะท้อนความจริง เนื่องจากน้ำมันขึ้นราคา และถ้าเป็นไปได้หากมีการเจรจาอีกครั้งจะเสนอให้ปรับราคาเป็นกิโลกรัมละ 20 15 และ 10 บาท ตามลำดับ
 
ภาพกิจกรรม :
 
 
ผลประเมิน : -